วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
“โก๋แก่” เป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวหรือสแน็คประเภทถั่วครองความเป็นหนึ่งมายาวนาน จากรุ่นพ่อผู้ก่อตั้งธุรกิจ ปัจจุบันส่งต่อสู่ 2 ทายาท เข้ามาขับเคลื่อนอาณาจักรพันล้าน! จากพี่น้อง 4 ชีวิต
โดย “จุมภฏ-กฤษดา รวยเจริญทรัพย์” ซึ่งผู้พี่นั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการบริหาร โรงงานโก๋แก่ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด ส่วนคนน้องรับหน้าที่ดูแลตลาดภายในประเทศ
อีกบทบาทของ “จุมภฏ” มีความหลงใหลในการสร้างภาพยตร์ “อิสระ” หรืออินดี้ ไม่เน้นทำเงินหรือ Box Office แต่ได้กล่องหรือคว้ารางวัลมาครอบครอง
การสร้างหนังคือ Passion ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอิทธิพลจากการไปเรียนบริหารธุรกิจที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ชื่นชอบทุกอย่างเกี่ยวกับ “ปารีส” ทั้งภาษา ศิลปะ ฯ หากชวนสนทนาเกี่ยวกับอาร์ท เมืองน้ำหอม เจ้าตัวอินมาก
ส่วนการบริหารธุรกิจ เป็นหน้าที่ในฐานะ “ทายาท” ซึ่ง 27 ปีที่เข้ามาทำงาน เผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย ยิ่งกว่านั้น มีวิชั่นในการพาองค์กรก้าวสู่เป็น King of Nuts ราชาแห่งถั่ว เป็นแบรนด์ระดับโลก(Global Brand)และ 10 ปีอยากเห็นยอดขาย “หมื่นล้านบาท”
5 ปี ขอสร้างหนัง 1 เรื่อง
เมื่อ Passion กับหน้าที่บริหารธุรกิจคือคนละส่วน ต้องแยกเวลาให้ดี “จุมภฏ” เล่าว่า เวลาหลักทุ่มให้ธุรกิจครอบครัว “ขายถั่ว” เสร็จแล้ว เลิกงานจึงไปทำหนัง ใช้เวลาเขียนบท ออกกองถ่าย ทำหน้าที่กำกับหนัง ใน 1 สัปดาห์ 3 วัน เทให้กับหนัง ทั้งเสาร์-อาทิตย์ และแทรกคิววันพุธบ้าง
“คิวผมไม่เหมือนชาวบ้าน เพราะเป็นนักธุรกิจ สัปดาห์หนึ่งถ่ายหนังได้ 3 วัน”
ภารกิจสร้างหนังวางไว้ว่า 5 ปี จะเห็นผลงาน 1 เรื่องออกมาสู่ตลาด ปี 2557 เรื่องแรก SUR-REAl ออกฉาย แม้ไม่ทำเงิน แต่คว้ารางวัล ปี 2566 หนังเรื่อง “ปรากฏการณ์” หนังไทย Sci-fi Erotic นำแสดงโดย “อนันดา เอฟเวอริ่งแฮม” ผู้เคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ “โก๋แก่” มาเป็นพระเอกด้วย
“หนังทำเป็นความชอบส่วนตัว และเรื่องปรากฏการณ์เกิดจากความชอบหนังสือ(ของปราบดา หยุ่น) และรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว เลยนำมาทำหนัง โดยบริษัทโก๋ฟิล์ม ทำขำๆเล่นๆสนุกๆ บริษัทมีผมเป็นผู้กำกับคนเดียว”SUR-REAL หนังเรื่องแรกสร้างเพราะ “ง่าย” ถ่ายทำในแท็กซี่ ส่วน “ปรากฏการณ์” ถ่ายจบก่อนช่วงโควิดระบาด ตัดต่อเสร็จ เจอไวรัสร้าย ต้องชะลอฉายยาว
ระยะเวลา 3-5 ปี มีหนัง 1 เรื่องให้คนดูสายอินดี้ชม มองเป็นเรื่องปกติที่ “ผู้กำกับ” ทำ เพราะกว่าจะเขียนบท ถ่ายทำ ใช้เวลานาน ขณะที่ผู้กำกับหนังของไทย สร้างหนังไวมาก อีกทั้ง “จุมภฏ” ต้องขายถั่วหาเงิน “ส่วนตัว” เพื่อทำหนังด้วย ครั้นจะให้คุยกับ “นายทุน” หาเงินทำหนัง เจอโจทย์ทั้งใช้นักแสดงของค่ายนั้นนี้ จึงขอเดินสายอินดี้ตอบโจทย์ Passion มากกว่า
“บ้านเราหนังมี 2 ขั้ว หนึ่งในนั้นคือหนังอาร์ท บางเรื่องผมดูแล้วก็หลับ แต่เป็นหนังตัวแทนประเทศ”
การทำหนังจากความชอบ จุมภฏ เห็นโจทย์พร้อมคำตอบที่ชัดว่า “ไม่ทำเงิน”แต่ในฐานะผู้กำกับ สิ่งที่ได้คือ “สนุก” กับสิ่งที่รักนั่นเอง
“ทายาท” นำ “โก๋แก่” ครอง King of Nuts
หมวกอีกใบของ จุมภฏ คือผู้บริหารโรงงาน และดูแลตลาดต่างประเทศให้ “โก๋แก่” ภารกิจสำคัญคือการพาบริษัทสร้างยอดขาย 10,000 ล้านบาท ใน 10 ปีข้างหน้า หรือเร็วที่สุด จากปัจจุบันยอดขาย 2,100 ล้านบาท หดตัวจากโควิดเคยทำเงิน 2,500 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้นต้องเป็น ราชาแห่งถั่วหรือ King of Nuts
“เป้าหมาย King of Nuts เป็นวิชั่นของเจนฯ 2”นมถั่วลิสง เคยขายในร้านสะดวกซื้อ ปีนี้กลับเข้า CVS อีกครั้ง
การไปให้ถึงเป้าดังกล่าว บริษัทวางแผนจะออกสินค้าใหม่ 10 รายการ(SKUs)ต่อปี จากปัจจุบันในพอร์ตโฟลิโอมีสินค้า 200-300 รายการ โดยถั่วเป็นพอร์ตหลัก และยังมีการแตกไลน์สู่สินค้าใหม่ๆ เช่น นมถั่ว เพื่อรับเทรนด์สุขภาพ กระแสแพลนท์เบส หรือนมจากพืช ชานมที่ใช้ถั่วเป็นวัตถุดิบ ฯ หวังสร้าง New S-Curve ให้บริษัทด้วย
ในฐานะกุมบังเหียนตลาดต่างแดน จะขยายประเทศเป้าหมายเพิ่ม แผนดังกล่าว ยังกระจายความเสี่ยง เป็นบทเรียนจากโควิด-19 ระบาดด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ส่งออก 20% ทำเงินราว 500 ล้านบาท “จีน” เป็นตลาดหลักยอดขายเกือบ 300 ล้านบาท พอปิดประเทศทำให้ยอดขายหายวับไปกับตา
การแก้เกมโฟกัสตลาดยุโรปมากขึ้น มีอังกฤษ เนเธอแลนด์ และฝรั่งเศส เป็นกุญแจสำคัญ และยังมองการขยายตลาดในกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม แต่โจทย์ใหญ่ “ต้นทุนวัตถุดิบถั่วแพง” ซึ่งทุกตลาดนำเข้าจากจีน เป็นหลัก เหมือนในไทย ที่บริษัทนำเข้าถั่วดิบจากจีน-อินเดีย 80-90%
ที่ผ่านมา บริษัทศึกษาการตั้งโรงงานในเวียนาม แต่ต้องทบทวนแผนอีกครั้งปัดฝุ่นบุกตลาดจีน
งัดแผนกระจายความเสี่ยงตลาดจีนแล้ว แต่บริษัทยังไม่ทิ้งจิ๊กซอว์สำคัญ ปี 2566 จะบุกตลาดอีกครั้ง ทั้งการเปิด “โก๋ช็อป” ที่เคยมีถึง 12 สาขา แต่ปิดไปเหลือ 2 สาขา การขยายไลน์สินค้าเพื่อ “ลองตลาด” ทั้งนมเครื่องดื่มนมถั่วลิสง ปาท่องโก๋ ฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปรับตัวขายผ่าน “รถทรัคโก๋แก่”
นอกจากนี้ จะเห็นการใช้พรีเซ็นเตอร์ดังจาก “ซีรีย์วาย” อย่าง “บอส-โนอึล” เพื่อกรุยทางสร้างแบรนด์ในตลาดจีนอีกครั้ง เพราะกระแสสายวายมาแรงในแดนมังกร
“เราเปิดร้านแฟล็กชิพในอีคอมเมิร์ซจีนทุกแพลตฟอร์มหลัก พอเจอโควิดต้องชะลอ ซึ่งบทเรียนจากวิกฤติสอนให้เราไม่ควรพึ่งพาตลาดเดียว กระจายเสี่ยงไปตลาดอื่น ส่วนการทำตลาดต้องโลตัลไลซ์แต่ละประเทศด้วย อย่างจีนจะทำตลาดอิงพฤติกรรม ความต้องการของลูกค้าตามภูมิภาค เพราะแต่ละพื้นที่ทานอาหารรสชาติแตกต่างกัน”
เจนฯ 2 มุ่ง Global Brand
ยุคพ่อก่อตั้งธุรกิจ จากขายข้าวเกรียบ ขนม ฯ จนสร้างโรงงานปี 2507 ส่วนแบรนด์ “โก๋แก่” เกิดปี 2519 ปัจจุบัน 47 ปี ยังมีโจทย์ให้ “ทายาทเจนฯ2” ทำต่อ คือแบรนด์ต้อง “ไม่แก่” ยิ่งกว่านั้น ครองบัลลังก์ King of Nuts ให้ได้ ซึ่งเจ้าตัวมั่นใจน่าสานภารกิจได้สำเร็จ หากสเต็ปแรก 5 ปีทะยานสู่ 5,000 ล้านบาท ครึ่งทางของปีที่ 10 ยอดขาย “หมื่นล้าน” บริษัทยังต้องการพาแบรนด์ไทยขึ้นเวทีโลกหรือ Global Brand ด้วย
“ตอนเริ่มทำงานอยากพาแบรนด์โก๋แก่ไปต่างประเทศ เป็น Global Brand”
ทว่า ภารกิจไม่ง่าย เพราะอุปสรรคเบื้องหน้าคือตลาดสแน็คประเภทถั่วเปลี่ยน ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น อดีตยุคพ่อ อาจเห็น “คนกินถั่วลิสง” แต่ยุคใหม่ คนใส่ใจสุขภาพ ทานสแน็คหลากหลายขึ้น“การเป็น King of Nuts เป็น Motto เราอยากเป็นผู้นำทุกถั่ว นึกถึงถั่ว..นึกถึงโก๋แก่”
ในปี 2566 การทำตลาดถั่วไม่ง่าย โจทย์ใหญ่ของ “จุมภฏ” คือต้นทุนการผลิตที่สูง โดยถั่วลิสงดิบที่ใช้ต่อวันราว 20 ตัน เผชิญราคาขยับแรงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่บริหารโรงงานมา 27 ปี ซึ่งรวมๆต้นทุนขยับแล้ว 23-24% ทั้งจากถั่ว น้ำมัน กระป๋อง ในไทย ยังไม่ขยับราคาแต่ “ลดปริมาณ 3-4 กรัม” ก่อนช่วงโควิด ส่วนสินค้าที่ส่งออก ปรับราคาราว 20% เพราะส่วนใหญ่เป็นถั่วในบรรจุภัณฑ์กระป๋อง
“โก๋แก่ เราไม่เคยปรับราคา แต่มีการลดปริมาณสินค้าลง”