
ที่มาของภาพ, Thai News Pix and EPA
สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ "แอม ไซยาไนด์" (ซ้าย) และ อดีตสามี พ.ต.ท. วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ (ขวา)
คดีสะเทือนขวัญที่กลายเป็นพาดหัวข่าวในขณะนี้ คือ คดีที่ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม 14 คดี ซึ่งมีความคืบหน้าและหลักฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ตำรวจได้จับกุมอดีตสามีที่เป็นรองผู้กำกับ สภ.สวนผึ้ง แล้ว หลังพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุของ แอม
การฆาตกรรมต่อเนื่องอย่างน้อย 14 คดี ที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องหา คือ แอม-สรารัตน์ เริ่มต้นจากการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ น.ส. ศิริพร ขันวงษ์ หรือ "ก้อย" ชาว จ. กาญจนบุรี ขณะไปปล่อยปลากับเธอเมื่อวันที่ 14 เม.ย.
ตำรวจพบได้พบหลักฐานเป็น “สารไซยาไนด์” อยู่ภายในบ้านของ นางสรารัตน์ สอดคล้องกับผลการผ่าพิสูจน์ของผู้เสียชีวิตที่พบสารชนิดนี้อยู่ในร่างกาย
จนถึงวันนี้ (4 พ.ค.) ตำรวจได้ออกหมายจับ แอม ฐานเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของผู้เสียหาย 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย รวมเป็นการออกหมายจับ 14 คดี และยังมีคดีต้องสงสัยอีก 2-3 คดี
สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม เดิมญาติของผู้เสียชีวิตเข้าใจว่า เสียชีวิตเอง จนกระทั่งทราบข่าวการเสียชีวิตของ น.ส. ศิริพร จึงเกิดความสงสัยและเข้าร้องเรียน ในจำนวนนั้นมีอดีตสามีของนางสรารัตน์รวมอยู่ด้วย
End of เรื่องแนะนำ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรียกประชุมคณะทำงานคลี่คลายคดีไซยาไนด์ของ แอม ก่อนแถลงข่าวว่า ตำรวจได้ย้อนกลับไปเก็บพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทำให้มีหลักฐานประกอบในสำนวนคดีต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการค้นหาไซยาไนด์ โดยประสานกรมโรงงาน และ อย. จนพบแหล่งที่มา ตอนนี้ อยู่ระหว่างคัดแยกว่าส่วนไหนที่ส่งถึงผู้ต้องหา
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ชุดคลี่คลายคดี นำโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดนครปฐม จับอดีตสามีนางแอม คือ พ.ต.ท. วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ รอง ผกก. (สอบสวน) สภ.สวนผึ้ง 3 ข้อหา คือ "ร่วมกันยักยอกทรัพย์, ร่วมกันฉัอโกงและใช้เอกสารราชการปลอม, และปลอมแปลงเอกสาร"
การจับกุม พ.ต.ท. วิฑูรย์ สืบเนื่องมาจากการสอบสวนการเสียชีวิตของ สุทธิศักดิ์ พูนขวัญ หรือแด้ อายุ 36 ปี ชาวราชบุรี นายทุนเงินกู้ และสามีใหม่ของ แอม
แด้ เสียชีวิตที่หอพักแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. โดยแพทย์ระบุสาเหตุว่า เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภรรยา คือ แอม ไม่ได้ติดใจต่อสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนส่งศพไปประกอบพิธีทางศาสนา
พฤติกรรมที่ส่อพิรุจของ แอม คือ แม้ว่าสามีจะเพิ่งเสียชีวิต แต่เธอกลับไปจัดงานวันเกิดของตนเองที่บ้านเพื่อนในพื้นที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ในช่วงค่ำวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามการรายงานของไทยรัฐออนไลน์
ไม่เพียงเท่านั้น ตำรวจพบว่า พ.ต.ท. วิฑูรย์ เป็นผู้ไปนำรถของ แด้ ที่ จ.อุดรธานี ก่อนขับรถไปกับ แอม เพื่อตระเวนทวงเงินจากลูกหนี้ของ แด้
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า แม้จะหย่าร้าง แต่ พ.ต.ท. วิฑูรย์ ยังใช้ชีวิตร่วมกันกับแอม ส่วนจุดประสงค์ที่ แอม ไปแต่งงานกับสามีใหม่ ก็เพื่อต้องการทรัพย์สิน เนื่องจากพบว่า แด้ มีทรัพย์สินจำนวนมาก
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สอบปากคำอดีตสามีของแดม
จากการสอบปากคำด้วยตนเอง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุว่า พ.ต.ท. วิฑูรย์ ยอมรับสารภาพแล้ว ตอนนี้ ได้คุมตัวไปส่งที่ สภ.เมืองนครปฐม และพนักงานสอบสวนจะคุมตัวขออำนาจศาลจังหวัดนครปฐมฝากขัง และคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
กระบวนการต่อไป ตำรวจจะเชิญตัว น.ส. น้อยหน่า ซึ่งเป็น "ภรรยาน้อย" ของ พ.ต.ท. วิฑูรย์ มาสอบปากคำ เนื่องจากเป็นบุคคลใกล้ชิด และเชื่อว่ารู้เห็นการกระทำของ พ.ต.ท. วิฑูรย์
ตอนนี้ พ.ต.ท. วิฑูรย์ ได้ถูกให้ออกจากราชการแล้ว
ยาพิษที่ใช้ก่อเหตุสังหาร และกลายเป็นฉายา "แอม ไซยาไนด์" กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย ซึ่งจากการตรวจสอบของทางการพบว่า มีคนซื้อไซยาไนด์ออนไลน์มากกว่า 100 คน
ไทยพีบีเอส รายงานการสัมภาษณ์ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า จากการขยายผลร้านจำหน่ายไซยาไนด์ และการสืบสวนของตำรวจพบว่า มีนักแสดงหญิงคนหนึ่งสั่งซื้อไซยาไนด์ไปด้วย และเตรียมเชิญมาให้ปากคำถึงการสั่งซื้อไซยาไนด์ไปเพื่อเหตุใด
นอกจากนั้น ได้ประสานกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการออกข้อบังคับฉุกเฉินให้บังคับใช้การซื้อขายสารไซยาไนด์ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยให้ชี้แจงว่าซื้อไซยาไนด์ไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด เพราะสารเคมีชนิดนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในร้านทองคำ และโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบันพบว่ามีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ขณะนี้ยังพบบุคคลต้องสงสัยที่จะต้องเรียกมาสอบปากคำอีกมากกว่า 100 คน และหากพบความผิดก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย
*ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส
ก่อนหน้าที่ แอม จะเข้ามอบตัว พีพีทีวี ได้ติดต่อ แอม เพื่อสอบถามข้อมูล ก่อนจะถูกควบคุมตัว โดย แอม ตอบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พร้อมบอกว่า จะเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการไปศาล และ จะไม่ให้ข้อมูลกับสื่อ
เมื่อ แอม ถูกควบคุมตัวที่สโมสรตำรวจ และผ่านการสอบปากคำหลายชั่วโมง สื่อมวลชนพยายามสอบถามผู้ก่อเหตุว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ เธอร้องไห้แต่ไม่ตอบคำถาม มีเพียงทนายความที่ตอบแทนว่าผู้ต้องหาขอใช้สิทธิไม่ตอบคำถามและต่อสู้ทางกฎหมายเท่านั้น
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ สันนิษฐานว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะต้องการทรัพย์สินของผู้ตาย รวมถึง มีพฤติกรรมเลือกเหยื่อจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในแวดวงตำรวจ โดยเหยื่อจะต้องเป็นคนมีเงิน
ภายหลัง แอม ถูกจับกุม มีการเปิดเผยรายชื่อการเล่นแชร์ ที่ถูกสื่อตั้งชื่อว่า "วงแชร์มรณะ" จำนวน 6 คน รวมถึง แอม ด้วย โดยผู้เล่นแชร์เสียชีวิตเกือบทุกคน ตอนนี้ ตำรวจได้ติดต่อสมาชิกวงแชร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ "แต้ว" เป็นพยานแล้ว
แต้ว ให้สัมภาษณ์กับช่อง 3 ว่า เคยขอเงินคืน แอม แต่กลับถูกยืมเงินเพิ่ม 5 หมื่นบาท อ้างว่า ถูกคนในวงแชร์อีกคนที่เสียชีวิตไปเมื่อไม่นานนี้ ยืมเงินไป
"หนูไม่เห็นมีคนส่งในวงเลย… แล้วเขาก็ส่งรูปว่ามีผู้หญิงเป็นลม บอกว่า พี่น้อยผัก เสียชีวิตแล้ว พี่ (แอม) ต้องยุบวงแชร์นี้นะ" แต้ว ระบุ ถึงบทสนทนากับแอมเมื่อปีที่แล้ว
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อคดี "แอม ไซยาไนด์" เข้าพบ พงส.กองปราบปราม เพื่อมาให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตถึงความเชื่อมโยงกับแอม ที่ กองปราบปราม เมื่อวันที่ 29 เม.ย.
และนี่คือรายละเอียดการเสียชีวิตของเหยื่อ 15 ราย เป็นผู้เสียชีวิต 14 ราย และรอดชีวิต 1 ราย ตามที่ตำรวจได้เปิดเผยข้อมูล
ส่วนผู้ที่มีอาการป่วย แต่รอดชีวิต คือ น.ส. กานติมา แพสอาด หรือ ปลา อายุ 36 ปี – มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือชา หลังรับประทานยาที่ได้จาก แอม ขณะเดินเล่นอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน กาญจนบุรี แต่เคราะห์ดีมีผู้ให้การช่วยเหลือทัน จากการตรวจสอบพบว่า แอม ติดหนี้ กานติมา 250,000 บาท
ที่มา : ไทยรัฐ, คมชัดลึก
เนื่องจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่บ่อยครั้ง บีบีซีไทยจึงรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) ดังนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข อธิบายลักษณะของ "ฆาตกรต่อเนื่อง" โดยอ้างคำนิยามโดยสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI หมายถึง ฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการหรือความพึงพอใจทางจิตใจ โดยจะมีช่วงว่างเว้นระหว่างเหยื่อแต่ละราย ซึ่งต่างจากฆาตกรรมหมู่ที่จะสังหารบุคคลหลาย ๆ คนในคราวเดียวกัน
ที่มาของภาพ, เว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข
ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลเดียว แรงจูงใจในการกระทำความผิด อาจมีได้ตั้งแต่ความโกรธ แสวงหาความตื่นเต้น ผลประโยชน์ทางการเงิน และการเรียกร้องความสนใจ วิธีการในการกระทำมักจะเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเหยื่อมักจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันเช่น ลักษณะทางประชากร รูปร่างลักษณะ เพศ และเชื้อชาติ
ในกรณีล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า ผู้ต้องหารายนี้ใช้สารไซยาไนด์ในการสังหารเหยื่อ เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว
ที่มาของภาพ, Getty Images
โพแทสเซียมไซยาไนด์มีลักษณะเป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว มีกลิ่นจาง ๆ คล้ายอัลมอนด์ สามารถละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี
ในบทความเรื่อง "ย้อนรอยประวัติศาสตร์ การฆ่าด้วยยาพิษ" ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 ระบุถึงบทสัมภาษณ์ของ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมของไทยในขณะนั้นกับสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุ "สารไซยาไนด์ ทำให้เหยื่อเสียชีวิตเร็วที่สุด และตรวจพบง่ายที่สุด โดยจะแสดงอาการไปทั่วร่างกาย" หากการชันสูตรศพของเหยื่อพบว่ามี "เลือดสีแดงสด" ก็อาจเป็นสัญญาณของการโดนพิษจากสารไซยาไนด์ได้
นอกจากนี้ สารเคมีอย่างโพแทสเซียม ไซยาไนด์ ยังทำให้เกิด "ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติรุนแรง ที่นำไปสู่การเกิดหัวใจวายได้ในเวลาอันรวดเร็ว"
สำหรับสารพิษที่ออกฤทธิ์ช้า อาจเปิดโอกาสให้ผู้ร้ายหลบหนีออกจากสถานที่ก่อเหตุได้โดยไม่ถูกตรวจพบ แต่ พญ. พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า สารประกอบเหล่านี้เก็บรักษาหรือจับต้องได้ไม่ง่ายนัก และหลายอย่างอาจทิ้งร่องรอยตกค้าง กลิ่น หรือสี ที่ทำให้ซ่อนได้ยาก
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก