ที่มาของภาพ, Reuters
สัตว์เลี้ยงก็ประสบภัยเช่นกัน
ครบหนึ่งสัปดาห์ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรีย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40,000 รายแล้ว แต่จนถึงเวลานี้ ความหวังยังไม่เจือจางไป เพราะยังพบผู้รอดชีวิต แม้จะติดใต้ซากปรักหักพังนานกว่า 200 ชั่วโมง
ทีมกู้ภัยจากทั่วโลก รวมถึงไทย ยังเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดใต้ซากอาคาร จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในตุรกี โดยวานนี้ (14 ก.พ.) พบผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นอีก แม้พวกเขาจะติดอยู่ใต้ซากอาคารนานกว่า 200 ชั่วโมงนับแต่แผ่นดินไหว จนถูกเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์
"มันเหมือนปาฏิหาริย์ที่ยังพบพวกเขามีชีวิตอยู่ แม้ถูกฝังทั้งเป็นมานาน" แพทย์กล่าว
"แต่จากนี้ไป ผู้รอดชีวิตจะมีอาการบาดเจ็บและสภาพร่างกายที่ค่อนข้างวิกฤต และพวกเขาต้องการการกู้ชีพอย่างเร่งด่วน"
หนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารเกือบ 200 ชั่วโมง คือหญิงชาวซีเรียวัย 25 ปี ที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว 2 ครั้ง แต่แพทย์กู้สัญญาณชีพกลับมาได้ทัน
End of เรื่องแนะนำ
แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรีย เมื่อวันที่ 6 ก.พ. เป็นเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเป็นอันดับ 6 ของโลก หลังจากมีผู้เสียชีวิตเกือบ 40,000 คน มากกว่าแผ่นดินไหวในประเทศอิหร่านเมื่อปี 2003
ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดในตุรกีอยู่ที่ 35,418 คน และที่ซีเรีย 3,688 คน รวมเป็น 39,106 คน ขณะที่ทางการตุรกีเผยว่ามีผู้บาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 80,000 คน และอีก 1 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว
ที่มาของภาพ, EPA
คิวดี้ เด็กหญิงวัย 12 ปี ได้รับการช่วยเหลือ หลังจากติดอยู่ใต้ซากอาคารเป็นเวลา 147 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่เมืองฮาเตย์ทางตอนใต้ของตุรกี
ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้ 2 เท่า หรือเกิน 50,000 คน
เมื่อวันอาทิตย์ (12 ก.พ.) เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยผู้รอดชีวิตออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารได้เพิ่มเติมหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว 6 วัน
ที่เมืองอันทาเคียของตุรกี ทีมกู้ภัยจากจีนและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของธุรกิจ ช่วยชีวิตชายชาวซีเรียวัย 54 ปี หลังจากผ่านไปแล้ว 156 ชั่วโมง
อาคารที่ยังไม่พังถล่มลงมาซึ่งมีจำนวนไม่กี่หลังบนถนนหลักของเมืองอันทาเคีย พบรอยแตกร้าวขนาดใหญ่และชิ้นส่วนที่ตกแต่งด้านหน้าอาคารแตกร้าวเป็นโพรง ขณะที่การจราจรในเมืองต้องหยุดเป็นระยะ เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยประกาศให้ทุกความเคลื่อนไหวเงียบเสียงลงเพื่อจับสัญญาณชีวิตที่อยู่ภายใต้ซากอาคารที่ถล่ม
ผู้รอดชีวิตในการกู้ภัยเมื่อวันอาทิตย์ ยังมีพ่อและลูกสาว เด็กทารก และเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่ได้รับการช่วยเหลืออกมา
ล่าสุด ทีมกู้ภัยสามารถช่วยเหลือเด็กชายอาราส วัย 5 ขวบ ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารของบ้านตัวเองในเมืองคาห์รามันมาราส หลังติดอยู่นานกว่า 105 ชั่วโมง นับแต่แผ่นดินไหว
เขาได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล หลังพบว่าอุณหภูมิร่างกายลดต่ำ
แม้เด็กชายอาราสจะรอดชีวิต แต่พี่สาววัย 7 ปีของเขา รวมถึงพี่ชายวัย 9 ปี และบิดา เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว
ส่วนที่เมืองฮาเตย์ (Hatay) ทางตอนใต้ของตุรกี เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถช่วยเหลือเด็กหญิงคิวดี้ วัย 12 ปี ออกมาได้หลังจากติดอยู่ 147 ชั่วโมง และเด็กวัย 7 เดือน หลังจากผ่านไปแล้ว 139 ชั่วโมง สื่อของรัฐบาลตุรกียังรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเด็กหญิงวัย 13 ปี ที่เมืองกาซีอันเต็ปออกมาได้อีกหนึ่งราย เจ้าหน้าที่กู้ภัยร้องเรียกขณะดึงเด็กหญิงออกมาได้ว่า "หนูคือปาฏิหาริย์"
ที่มาของภาพ, Reuters
ทีมกู้ภัยสามารถช่วยเหลือเด็กชายอาราส วัย 5 ขวบ ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารของบ้านตัวเองในเมืองคาห์รามันมาราส หลังติดอยู่นานกว่า 105 ชั่วโมง นับแต่แผ่นดินไหว
นอกจากการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต สถานการณ์ในตุรกียังเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากการปล้นทรัพย์ ที่เมืองอันทาเคีย เจ้าของร้านค้าต้องย้ายสินค้าในร้านออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกขโมย ขณะที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยเหลือซึ่งเดินทางจากเมืองอื่นต้องเผชิญกับเรื่องนี้เช่นกัน หลังจากเกิดการลักทรัพย์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตามร้านค้าและบ้านเรือนที่พังถล่ม
ตุรกีกำลังจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน จากเหตุความไม่สงบเรียบร้อยดังกล่าว ประธานาธิบดีเรเจป ให้คำมั่นว่า จะจัดการกับการปล้นทรัพย์เหล่านี้
ส่วนกรณีโครงสร้างของตึกอาคารที่ถล่มจากแผ่นดินไหวที่ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัยว่าภัยพิบัติได้ถูกทำให้เลวร้ายขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงใน 10 จังหวัด ล่าสุดทางการตุรกี ออกหมายจับจำนวน 113 หมายจับต่อผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารที่พังถล่ม และมีผู้ถูกจับกุมคุมขังแล้ว 12 ราย รวมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง
ที่มาของภาพ, Reuters
ทีมกู้ชีพของออสเตรียค้นหาผู้รอดชีวิตในตุรกี
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของตุรกี ทำให้ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุแผ่นดินไหวต้องชะงักลงในบางพื้นที่
หน่วยกู้ภัยเยอรมัน และกองทัพออสเตรีย หยุดปฏิบัติการค้นหาเมื่อวันเสาร์ (11 ก.พ.) โดยอ้างถึงเหตุปะทะระหว่างกลุ่มไม่ทราบชื่อ
หน่วยกู้ภัยรายหนึ่งกล่าวว่า คาดว่าการรักษาความปลอดภัยจะเลวร้ายลง เนื่องจากการขาดแคลนอาหาร น้ำ รวมถึงความหวังที่ลดน้อยถอยลง
ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี กล่าวว่า เขาจะใช้อำนาจฉุกเฉินลงโทษกับบุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย
โฆษกกองทัพออสเตรียกล่าวว่า เหตุปะทะระหว่างกลุ่มไม่ทราบชื่อที่เกิดขึ้นในจังหวัดฮาเตย์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยพิบัติฉุกเฉินออสเตรียหลายสิบคนต้องหาที่หลบภัยในเบสแคมป์ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ
พ.ท. ปิแอร์ คูเกลไวส์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “มีความแข็งกร้าวมากขึ้นในระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในตุรกี” และ “โอกาสในการช่วยชีวิตจะเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย”
ไม่กี่ ชม. หลังจากออสเตรียหยุดปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัย กระทรวงกลาโหมของตุรกีออกมาระบุว่า กองทัพตุรกีจะเข้ามาคุ้มกัน และทำให้ปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยยังดำเนินต่อไปได้
ล่าสุดกระทรวงกลาโหมออสเตรียรายงานว่า ทีมกู้ภัยออสเตรียกลับเข้าร่วมภารกิจอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน หน่วยกู้ภัย ISAR ของเยอรมนี และสำนักงานบรรเทาทุกข์เชิงเทคนิคแห่งเยอรมนี (TSW) ก็ประกาศยุติปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัย โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัยเช่นกัน
โฆษกหน่วยกู้ภัย ISAR แถลงว่า มีรายการการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น มีการยิงปืนด้วย
อย่างไรก็ตามทีมกู้ภัยเยอรมนีให้คำมั่นว่าพร้อมกลับมาเปิดปฏิบัติการอีกครั้ง ทันทีที่ทางการตุรกีสามารถดูแลสถานการณ์ให้ปลอดภัยได้
ที่มาของภาพ, Getty Images
ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี
ประธานาธิบดีตุรกียังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดฮาเตย์ แต่ย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม
ในระหว่างลงพื้นที่ประสบภัยพิบัติเมื่อ 11 ก.พ. นายแอร์โดอันระบุว่า รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว นั่นหมายความว่าจากนี้หากใครมีส่วนร่วมในการปล้นสะดม หรือการลักพาตัว จะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
เอเอฟพีรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสื่อรัฐบาลตุรกีว่า เมื่อวันเสาร์ (11 ก.พ.) มีผู้ถูกจับกุม 48 ราย ด้วยข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังยึดของกลางไว้หลายรายการ มีปืนหลายกระบอก เงินสด เครื่องประดับ และบัตรธนาคาร
ชายวัย 26 ปี ที่กำลังเร่งค้นหาเพื่อนร่วมงานท่ามกลางซากอาคารที่พังถล่มลงมาในกรุงอังการา กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “ผู้คนกำลังทุบหน้าต่างและประตูของร้านค้า และกระจกรถยนต์แล้ว”
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นเมื่อ 6 ก.พ. โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ติดกับพรมแดนซีเรีย มีความรุนแรงขนาด 7.8 และครั้งที่สอง มีความรุนแรงขนาด 7.5
นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการฝ่ายกิจการมนุษยชนของยูเอ็น และหัวหน้าผู้ประสานงานการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มอีก 2 เท่าจากจำนวนผู้เสียชีวิตในปัจจุบัน
ในระหว่างตรวจเยี่ยมเมืองคาห์รามันมาราสของตุรกี ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งแรก นายกริฟฟิธส์กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริง เนื่องจากจำเป็นต้องค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังก่อน แต่มั่นใจว่าจะสูงกว่ายอดปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2 เท่า หรือมากกว่านั้น
เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพและกู้ภัยกำลังเร่งค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ตามซากอาคาร ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บในทั้ง 2 ประเทศ ยูเอ็นเตือนว่า ผู้ประสบภัยอย่างน้อย 870,000 คนกำลังต้องการอาหารปรุงสุกใหม่ และคาดว่าเฉพาะซีเรียประเทศเดียว อาจมีคนไร้บ้านมากถึง 5.3 ล้านคน
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก