ที่มาของภาพ, Reuters
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามช่วยเหลือหญิงสาววัย 15 ปี ที่ติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร หลังจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีผ่านมาแล้วกว่า 115 ชั่วโมง
ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตดูเหมือนจะดูเลือนลางลงทุกที เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 5 วัน หลังจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ซ้อนสองครั้ง ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเข้าวันจันทร์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จนถึงวันนี้ (11 ก.พ. ) ยอดผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกินกว่า 25,000 รายแล้ว โดยแบ่งเป็นในตุรกี 20,665 ราย และในซีเรียอีก 3,553 ราย คาดว่ามีผู้ประสบภัยหลายล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนทีมกู้ภัยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับภารกิจการลำเลียงอาหารและสร้างศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้น
ด้านหัวหน้าด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรมของสหประชาชาติ เปิดเผยว่า มีขบวนรถลำเลียงความช่วยเหลือเพียง 2 คณะที่สามารถเข้าถึงพื้นที่กลุ่มกบฏครอบครองในซีเรีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฏหยุดยิงทันทีเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
End of เรื่องแนะนำ
ขณะที่เจ้าหน้าที่และสุนัขกู้ภัยนานาชาติเดินทางมาถึงซีเรียและตุรกีแล้ว รวมทั้งทีม USAR Thailand 42 นาย พร้อมด้วยสุนัขกู้ภัย K9 ‘เซียร่า’ อายุ 7 ปี และ ‘ซาฮาร่า’ อายุ 6 ปี สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์เพศเมียทั้งคู่เดินทางถึงตุรกีแล้วเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
ที่มาของภาพ, FACEBOOK/มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทีม USAR Thailand 42 นาย พร้อมด้วยสุนัขกู้ภัย K9 ‘เซียร่า’ และ ‘ซาฮาร่า’ เข้าร่วมภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตในตุรกี
ภารกิจในแต่ละพื้นที่มีความยากลำบากแตกต่างกัน ท่ามกลางความกังวลเรื่องสภาพอากาศหนาวเย็นที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการค้นหาผู้รอดชีวิต รวมทั้งการขาดปัจจัยสาธารณูปโภคเช่น น้ำสะอาด ไฟฟ้า และสถานที่พำนักชั่วคราว เนื่องจากมีรายงานว่ายังคงเกิดอาฟเตอร์ช๊อคตามมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ทีมกู้ภัยนานาชาติที่จะเดินทางไปช่วยเหลือในซีเรียก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ก่อนหน้านี้ประเทศนี้ต้องเผชิญกับสงครามทางการเมืองมากว่า 12 ปี และยังมาถูกซ้ำเติมด้วยพิบัติภัยทางธรรมชาติครั้งนี้ด้วย ยิ่งทำให้การลำเลียงความช่วยเหลือจากนานาชาติเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะถนนและอาคารบ้านเรือนหนทางถูกทำลายนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2011 ในครั้งที่มีการประท้วงอย่างสันติต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด กลายเป็นเหตุความรุนแรง
สภาพความเสียหายภายในเมืองอเลปโป ของซีเรีย
นอกจากนี้ การเข้าเขตซีเรียก็ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลซีเรียเท่านั้น โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวบีบีซีซึ่งได้รับอนุญาตโดยทางการซีเรียให้เข้าไปรายงานในเมืองอเลปโป ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 400 ราย แต่ยอดผู้เสียชีวิตทั้งประเทศน่าจะสูงราว 4,000 ราย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นยากที่ประเมินได้ในขณะนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่พุ่งตรงไปยังประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ที่ได้อธิบายเหตุพิบัติภัยครั้งนี้ว่า “ความหายนะแห่งศตวรรษ”
ที่มาของภาพ, Getty Images
ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี
นักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งกล่าวหานายแอร์โดอันว่า ล้มเหลวในการเตรียมรับมือกับภัยจากแผ่นดินไหว โดยตั้งคำถามการใช้งบประมาณราว 1.55 แสนล้านบาท ที่จัดเก็บจากภาษีแผ่นดินไหว (earthquake tax) ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวในปี 1999 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 17,000 ราย
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวมีไว้เพื่อใช้ในมาตรการป้องกันและพัฒนาระบบการเตือนภัยฉุกเฉินขึ้นเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ แต่ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่า เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้วที่รัฐบาลของนายแอร์โดอันไม่ได้เตรียมรับมือเรื่องนี้เลย
นอกจากนี้หลายฝ่ายยังมองว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือของรัฐบาลตุรกียังเป็นไปด้วยความล่าช้า
แม่และเด็กทารกแรกรอดชีวิตอย่างปาฏิหารย์ด้วยความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัย หลังติดอยู่ภายใต้ซากอาคารในตุรกีนานกว่า 90 ชั่วโมง ภายหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อช่วงเช้ามืดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ภาพการดึงตัวเด็กทารกวัยเพียง 10 วันอย่างทะนุถนอมโดยมีผ้าห่มฉุกเฉินหุ้มร่างกายเพื่อรักษาความอบอุ่น ออกจากซากปรักหักพังในเมืองฮาเตย์ ทางตอนใต้ของตุรกี กลายเป็นภาพที่สื่อมวลชนท้องถิ่นบรรยายว่า “ปาฏิหารย์”
ขณะที่เรื่องราวการรอดชีวิตปาฏิหารย์ของผู้รอดชีวิตได้รับการถ่ายทอดโดยสื่อมวลชนและทีมกู้ภัยนับตั้งแต่ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 7.8 ทางตอนใต้ของตุรกีและตอนเหนือของซีเรีย
ที่มาของภาพ, EKREM IMAMOGLU
เด็กคนนี้มีชื่อว่า “ยากิซ” ได้รับการนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล พร้อมกับแม่ที่ถูกลำเลียงไปด้วยเปลสนาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพของทั้งสอง
อีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจคือ เหตุการณ์ช่วยเหลือ “อายา” เด็กหญิงที่มีชื่อในภาษาอาหรับแปลว่า “ปาฏิหาริย์” ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือออกมาจากซากปรักหักพัง หนูน้อยรายนี้ยังมีสายสะดือติดอยู่กับร่างของแม่ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว
เมื่อเรื่องราวดังกล่าวเผยแพร่ออกไปทำให้มีหลายพันครอบครัวที่ได้เสนอตัวขอรับอุปการะหนูน้อย
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก