
ที่มาของภาพ, Thai News Pix/กองโฆษก พรรคเพื่อไทย
พิธาเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภาหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 19 ก.ค. ส่วนเศรษฐาเดินเข้าพรรคเพื่อไทยหลังแพทองธารให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะเสนอชื่อเขาเป็นนายกฯ ในนามเพื่อไทย เมื่อ 18 ก.ค.
มติรัฐสภาที่ “ฝัง” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวในบัญชีของพรรค ไม่ให้กลับมา “แจ้งเกิด” กลางสภาได้อีกตลอดสมัยประชุมนี้ ทำให้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลคล้ายพลิกไปอยู่ในมือของพรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทย (พท.)
ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 เสียง ว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เป็น “ญัตติต้องห้าม” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในเมื่อชื่อของเขาถูกตีตกไปแล้วเมื่อ 13 ก.ค. จึงไม่สามารถเสนอชื่อเดิมให้สมาชิกรัฐสภาโหวตซ้ำได้อีกตลอดสมัยประชุมนี้ (สิ้นสุดเดือน ต.ค.)
ภายหลังปิดประชุมรัฐสภา 19 ก.ค. แกนนำเพื่อไทย-ก้าวไกล ต่างยังไม่แสดงความเห็นต่อก้าวต่อไปของพรรค
ถึงตอนนี้เชื่อว่า พลพรรคเพื่อไทยรอเพียงถ้อยแถลง-คำประกาศ “ปล่อยมือ” อย่างเป็นทางการจากพรรคอันดับ 1 เท่านั้น ก็พร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อทันที
บีบีซีไทยประมวลความคิด-ความเคลื่อนไหวของคนในสภา จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนี้
End of เรื่องแนะนำ
ใครคือ “นายกฯ ตัวจริง” ของเพื่อไทย คือคำถามคาใจใครหลายคนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีแคนดิเดตเต็มบัญชี 3 คน ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
หนึ่งวันก่อนประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในยกที่ 2 แพทองธาร ชินวัตร คือผู้ออกมาเฉลยคำตอบแก่สังคม โดยเปิดเผยว่า พรรค พท. จะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ “อันนี้เป็นที่ชัดเจน แต่เราจะทำไปทีละขั้น”
“ตอนนี้ประเทศชาติไม่ง่าย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดกับประเทศ ณ ตอนนี้ คือคุณเศรษฐาที่จะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล” แพทองธารกล่าวเมื่อ 18 ก.ค.
แคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรคสีแดง ปฏิเสธไม่ทราบกระข่าว ส.ส. อีสานของพรรคไม่สนับสนุนเศรษฐา แต่ออกตัวว่า “อิ๊งสนับสนุนอย่างเต็มที่” และเชื่อว่าจะพูดคุยกับ ส.ส. ได้แน่นอน
คำยืนยันที่หลุดจากปากคำของแพทองธาร ทำให้ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. ยากจะพลิกเป็นอื่นในการโหวตรอบต่อไป เหลือเพียงรอประกอบพิธีกรรมภายใน ด้วยการขอมติคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) แจ้งต่อที่ประชุม ส.ส. ของพรรค และนำชื่อไปบอกให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลรับทราบเท่านั้น
ความท้าทายของเศรษฐา นักธุรกิจที่เพิ่งกระโจนเข้าสู่การเมืองด้วยความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นประกาศว่า “ไม่เอา” ตำแหน่งอื่นนอกจากนายกฯ คือ จะหาเสียงสนับสนุนให้เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา หรือ 376 จาก ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด 750 คนได้หรือไม่
“ถ้ากรณีพิธาถูกตีว่าเป็นญัตติ อะไรจะการันตีโอกาสของเศรษฐา” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. ตั้งคำถามผ่านบีบีซีไทยก่อนการประชุมรัฐสภา
ภายหลังเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อพิธาให้โหวตซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เขาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ผลที่ออกมาถือว่าไม่เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหลังจากนี้พรรค ก.ก. จะประชุมหารือภายใน ก่อนแถลงท่าทีอีกครั้ง
ที่มาของภาพ, EPA
เศรษฐา ทวีสิน ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยเมื่อ มี.ค. 2566 โดยเขาเคยระบุว่า “จะรับตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น และไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง หากไม่ได้เป็นนายกฯ”
“ถ้าเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของเอ็มโอยูทั้ง 8 พรรค หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่การยกเลิก” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. เปิดประเด็นใหม่ตั้งแต่เพื่อไทยยังไม่ทันได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างเต็มขั้น
หัวหน้าพรรค พท. ชี้แจงในวันนี้ (19 ก.ค.) ว่า เป็นการตอบคำถามต่อสื่อมวลชนที่ว่าหากพรรค พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องทำตามเอ็มโอยูเดิมหรือไม่
การส่งสัญญาณ “รื้อเอ็มโอยู” หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding – MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 312 เสียง ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะในระยะเวลาเดือนเศษ ได้ปรากฏความเห็นไม่ลงรอยระหว่าง ก้าวไกล-เพื่อไทย ใน 3 ยกสำคัญ ๆ
หนึ่ง วันลงนามในเอ็มโอยูร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อ 22 พ.ค. โดยมี 23 “วาระร่วม” นอกจาก 7 พรรคร่วมฯ ยืนกรานไม่ให้บรรจุเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงเอ็มโอยูแล้ว พรรค พท. ยังเป็นหัวหอกให้เพิ่มคำปรารภก่อนเข้าเนื้อหาเอ็มโอยูด้วยว่า “ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น จะต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
ในระหว่างการแถลงข่าว หัวหน้าพรรคของหลายพรรคออกตัวว่าไม่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ขณะที่หัวหน้าพรรค ก.ก. ประกาศขอผลักดันต่อเป็น “วาระเฉพาะ” ของก้าวไกล ซึ่งวาระนี้ได้ย้อนกลับมาเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว. และ ส.ส. “ขั้วตรงข้าม” โหวตสวน-งดออกเสียงให้พิธาเป็นนายกฯ
เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้แก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหาร 2557 ของพรรค ก.ก. ที่หลุดจากเอ็มโอยู ทั้งที่เคยปรากฏในข้อ 2 ของร่างเอ็มโอยูมาก่อน เนื่องจากแกนนำพรรค พท. ไม่ต้องการให้ถูกเชื่อมโยงกับวาระ “กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
นี่เป็นครั้งแรกในไทยที่มีการเซ็นเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ฤกษ์วันครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.
สอง วันประกาศข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย เมื่อ 3 ก.ค. ในการเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หลัง 2 พรรคเปิดฉากช่วงชิงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและไม่อาจตกลงกันได้ ทำให้พรรค พท. แก้เกม-วางกล-ชงชื่อประธานสภาจากพรรคที่ 3 แทน
ในวันนั้นมีการออก 4 ข้อตกลงร่วมกัน โดยเนื้อหาในข้อ 4 ระบุว่า “พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง…”
แกนนำพรรค พท. ที่อยู่นอกโต๊ะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลตั้งข้อสังเกตว่าถูก “ลักไก่” และ “สอดไส้” ให้ร่วมนิรโทษกรรมคดี 112 หรือไม่ เพราะชาวก้าวไกลตีความว่าเป็นคดีการเมือง
“เคยให้ความเห็นว่าเราไม่ประสงค์ และไม่เห็นด้วยที่จะระบุเรื่องนี้ (นิรโทษกรรม) ในเอ็มโอยู” สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวเมื่อ 4 ก.ค.
สาม วันพิธาปล่อย “คลิปเดี่ยว” เมื่อ 15 ก.ค. ประกาศขอต่อสู้ใน 2 สมรภูมิคือ สมรภูมิโหวตนายกฯ 19 ก.ค. กับสมรภูมิแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในการร่วมเลือกนายกฯ สร้างความไม่พอใจให้แก่แกนนำพรรค พท.
ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. วิจารณ์สมรภูมิมาตรา 272 ของก้าวไกล ติดต่อกัน 3 วัน โดยชี้ว่า “เป็นการเสนอนอกเหนือเอ็มโอยู” และ “เหมือนมัดมือชกเรา”
พลันที่ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรค พท. แบไต๋ว่าจะรื้อเอ็มโอยูเดิม รองหัวหน้าพรรคอย่างภูมิธรรมก็ขยายความต่อในระหว่างให้สัมภาษณ์ “ข่าวสดออนไลน์” โดยกล่าวว่า หากพรรค พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในจำนวนนี้คือการเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล รวมถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายใน 4 ปี
แนวคิด-นโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นอีกจุดต่างสำคัญระหว่างทั้ง 2 พรรค โดยก้าวไกลชูนโยบายรัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะที่พรรค พท. เน้นแก้ปัญหาปากท้องด้วยการอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากการปรับเอ็มโอยู นพ.ชลน่านยังบอกใบ้เรื่อง “หาเสียงจากพรรคที่ 9 และพรรคที่ 10 มาเติม” โดยเตรียมหารือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิมก่อนว่าพรรคแกนนำ (ใหม่) มีสิทธิหาเสียงเพิ่มได้ขนาดไหน ถ้ามีสิทธิหาเสียงเพิ่มได้ เช่น ดึงพรรคอื่นเข้ามา ก็ต้องเปลี่ยนเอ็มโอยู
บีบีซีไทยถามว่า ก่อนดึงพรรคที่ 9 และพรรคที่ 10 มาเติม พรรค พท. จำเป็นต้องรู้ก่อนหรือไม่ว่าหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ได้เท่าไร นพ.ชลน่านตอบว่า “ควรเป็นอย่างนั้น”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ตอบคำถามสื่อ โดยบอกว่า หากเพื่อไทยเป็นแกนนำ เอ็มโอยูเดิมเขียนทุกอย่างขึ้นต้นว่าก้าวไกล ก็ต้องเปลี่ยนแปลง และสิทธิของพรรคแกนนำจะต้องหารือกับ 8 พรรคร่วมฯ ว่ามีสิทธิหาเสียงเพิ่มได้ขนาดไหน
ถึงตอนนี้ หัวหน้าพรรค พท. ยัง “ไม่ขอตอบ” ประเด็นเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว
เช่นเดียวกับข้อวิเคราะห์ของสื่อบางสำนักที่ว่า พรรค 141 เสียงเตรียมดึง “พรรค 2 ชาติ” คือ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง มาร่วมรัฐบาลเป็นอันดับแรก ๆ โดย นพ.ชลน่านบอกเพียงว่า “ยังไม่มีเรื่องนั้น ขอให้ประเด็นวันนี้เป็นที่ปรากฏก่อน และคำแถลงของ 8 พรรคร่วมฯ ปรากฏก่อน”
บีบีซีไทยเข้าใจว่า จุดยืนแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกลที่ไม่เปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นทั้ง “อุปสรรค” และ “ข้ออ้าง” ของพรรค พท. ในการแสวงหาพันธมิตรการเมืองเพิ่มเติม
หากพรรค พท. ส่งเทียบเชิญพรรคการเมืองใน “ขั้วอำนาจเดิม” เข้ามาเติมเสียงจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเพิ่มความมั่นใจก่อนโหวตนายกฯ หน้าใหม่ นั่นจะกลายเป็นจุดบังคับให้พรรค ก.ก. ต้องตัดสินใจว่าจะ “ไปต่อหรือพอแค่นี้” หากเคมีการเมืองของพรรคใหม่ไม่ตรงกับก้าวไกล ซึ่งไม่ว่าอย่างไรพรรค พท. จะรอให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายพูดก่อน
เมื่ออำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลใกล้เปลี่ยนมือ จึงได้เวลาที่พรรคการเมืองหลักใน “ขั้วอำนาจเดิม” จะออกมาเปิดเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลบ้าง โดยทุกพรรคต่างประสานเสียงยืนยันว่าไม่แก้มาตรา 112 ซึ่งคล้ายเป็นการบอกใบ้ว่า “มีก้าวไกล ไม่มีพรรคของพวกเขา”
ในการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกเมื่อ 13 พ.ค. มี 3 พรรคการเมืองโหวตสวนชื่อพิธา ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 70 เสียง (จากทั้งหมด 71 เสียง – ลาป่วย 1 คน), พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง
ขณะที่อีก 3 พรรคงดออกเสียง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง
ต่อไปนี้คือเสียงจากแกนนำพรรคต่างขั้วบางส่วน ถึงโอกาส “พลิกขั้วการเมือง” หากเพื่อไทยพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พรรคภูมิใจไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. พูดถึงแนวทางของภูมิใจไทยว่า มี 2 เรื่องหลักคือ ไม่แตะมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย
แล้วถ้าพรรค พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังจับมือกับพรรค ก.ก. อยู่ล่ะ?
“ก็พูดไปแล้ว คือไม่เอา” อนุทินตอบ และเน้นย้ำ 2 เงื่อนไขเดิม
เขายังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่ารับได้หรือไม่กับชื่อเศรษฐา โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแคนดิเดตนายกฯ ทุกคนที่แต่ละพรรคเสนอมีความเหมาะสมตามเหตุผลของพรรคนั้น ถ้าไปบอกคนนั้นไม่เหมาะคนนี้ไม่เหมาะ ซึ่งไม่มีสิทธิที่จะไปพูด ถ้าเราไปบอกไม่เหมาะ เดี๋ยวเขาจะบอกว่าฝั่งเราไม่เหมาะ ก็ยุ่งตาย
พรรค ภท. ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายเศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. กรณีปราศรัยใส่ร้ายและหมิ่นประมาทพรรค ภท. ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ จ.นครพนม โดยกล่าวทำนองว่า เลือกภูมิใจไทยได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก และโจมตีนโยบายกัญชาว่าเป็นการมอมเมาเยาวชน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
อนุทิน ชาญวีรกูล กับลูกพรรคภูมิใจไทยในระหว่างการประชุมรัฐสภา 15 ก.ค.
พรรครวมไทยสร้างชาติ
ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรค รทสช. ย้ำจุดยืนของพรรคสีน้ำเงินที่ ไม่ร่วมกับพรรคที่แก้มาตรา 112 ส่วนพรรคอื่นสามารถพูดคุยกันได้
“หากพรรคอันดับ 2 จะจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องมาดูว่าพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วยจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ถ้ามี เราก็ไม่ร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว นี่เป็นหลักการที่พรรคยืนยันมาตลอด” รองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค พท. ไม่ได้มีเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นายธนกรกล่าวว่า เราก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ทุกอย่างต้องคุยกันในพรรคก่อน
พรรคชาติไทยพัฒนา
วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. ยังสงวนท่าที-สงวนคำตอบว่าพรรค ชทพ. จะร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยได้หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า “มันยังไม่ถึงเวลา”
แต่เขาย้ำแนวทางของพรรค ชพท. ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้ผู้สื่อข่าวขยี้-ขยายคำพูดของเขาต่อ
แสดงว่าหากมีพรรคที่มีเจตนาแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในพรรคร่วมฯ ก็ไม่สามารถร่วมงานด้วยได้ใช่หรือไม่?
“ใช่ครับ” วราวุธตอบ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
วราวุธ ศิลปอาชา สงวนท่าทีต่อการตอบข้อซักถามสื่อเรื่องการพลิกขั้วร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย
เมื่อข้ามไปดูท่าทีจากฟากฝั่งวุฒิสภาบ้าง ในการลงมติเลือกนายกฯ ยกแรก ที่พิธาแพ้โหวตกลางรัฐสภา 13 ก.ค. มี ส.ว. เข้าร่วมประชุม 206 คน แต่มีเพียง 13 คนที่ลงมติ “เห็นชอบ” 34 คนลงมติ “ไม่เห็นชอบ” 159 คน งดออกเสียง และอีก 43 คน ไม่ลงคะแนนหรือลาประชุม
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ส.ว. จะลงมติอย่างไร หากเปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรค พท. และเปลี่ยนชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นเศรษฐา
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ย้ำจุดยืนเดิม 3 ข้อคือ 1. พร้อมลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ 2. ไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และ 3. แนวนโยบายของรัฐบาลอยู่ในวิสัยที่รับได้
“ถ้าคุณเศรษฐาประกาศเลยว่าขอถอนเรื่องมาตรา 112 ไม่ให้แก้อย่างเด็ดขาด อย่างนี้เสนอมา ชื่อเขาอาจผ่านเลยนะ” ดิเรกฤทธิ์กล่าวกับบีบีซีไทย
ในการประชุมรัฐสภาเมื่อ 13 ก.ค. ดิเรกฤทธิ์ได้ลาประชุม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยยืนยันมาตลอดว่าพร้อมโหวตตามเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่าไม่สมควรให้ลงมติในวันนั้น เพราะมองว่าปัญหาคุณสมบัติของนายพิธายังไม่เป็นที่ยุติจาก “คดีถือหุ้นไอทีวี” ซึ่งเวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องทางธุรการแล้ว
ส.ว. รายนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหากับตัวบุคคล และไม่ติดใจกับสูตรจัดรัฐบาลไม่ว่าจะมีพรรค ก.ก. ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ในอนาคต “จะเป็น 8 พรรคร่วมฯ เดิม หรือเพื่อไทยหาเสียงจากพรรคอื่นมาเพิ่ม ผมไม่ติด ไม่มีปัญหา ขอแค่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ก็พอ”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
กิตติศักดิ์ รัตวราหะ ส.ว. ผู้โหวตสวนชื่อพิธา เป็นอีกคนที่ย้ำจุดยืนเดิม และเป็นคนแรก ๆ ที่ “ยกเพดาน” ต่อต้านพิธาและพรรคสีส้ม โดยประกาศว่า หากยังมีพรรค ก.ก. เป็นพรรคร่วมฯ ไม่ว่าเสนอใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่โหวตให้
“ใครจะตั้งรัฐบาลกับใคร ส.ว. ไม่ก้าวล่วง แต่เป็นสิทธิของ ส.ว. ที่เรามองประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม” กิตติศักดิ์กล่าว
เมื่อหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยเปิดชื่อเศรษฐาเป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ กิตติศักดิ์จึงยื่นคำขาด “ในรัฐบาลนั้นต้องไม่มีก้าวไกล”
การออกมาแสดงท่าทีเช่นนี้ ทำให้เขาถูกตั้งคำถามว่าวุฒิสมาชิกกำลังแทรกแซงรูปแบบ-สูตรจัดรัฐบาลหรือไม่ โดยหวังผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
“ผมไม่ได้บอกว่าก้าวไกลจะไปอยู่ฝ่ายไหน แต่ยังไง ส.ว. กิตติศักดิ์ก็ไม่โหวตให้ ถ้ายังมีก้าวไกล เปลี่ยนชื่อใครมา ยังไงก็ไม่ผ่าน” เขากล่าว
เมื่อบีบีซีไทยถามว่า ส.ว. ที่คิดแบบ ส.ว. กิตติศักดิ์ คือหากเพื่อไทยไม่ทิ้งก้าวไกลจะไม่โหวตให้มีกี่คน
“อย่าบอกใครนะ เกือบหมด” กิตติศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก