
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
พรรคฝ่ายค้านเรียกการอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นการ "กระชากหน้ากากคนดี"
ศึกอภิปรายทั่วไป ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. ถือเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศจะ “กระชากหน้ากากคนดี” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 จะไม่มีการลงมติ แต่ถือว่าเป็นวาระการเมืองสำคัญต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นการอภิปรายสุดท้าย ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ. ขณะที่สมัยอายุของสภาจะสิ้นสุดในวันที่ 23 ม.ค. หากไม่มีการยุบสภาก่อนหมดอายุสภา เพื่อจัดการเลือกตั้ง
เป้าหมายสำคัญของการอภิปรายครั้งนี้ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เดินทางถึงอาคารรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้า
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวแถลงญัตติและเปิดการอภิปรายที่จะยาวนานกว่า 32 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 16 ก.พ. ว่า นี่เป็น “ยุทธการกระชากหน้ากากคนดี… เพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้ว่า คนดีที่ใส่หน้ากาก แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร” และ 8 ปีภายใต้ พล.อ. ประยุทธ์ คือ "8ปีที่แปดเปื้อน”
End of เรื่องแนะนำ
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า นี่จะ “เป็นการอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้น คำอภิปรายของพวกเราจะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในประเทศนี้บ้างเมืองนี้ ที่เกิดจากผลการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่ส่งผลต่อพี่น้องประชาชน” และ “ไม่มีการลงมติ” แต่อย่างใด
การอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ จะมีผู้อภิปรายรวม 35 คน ตลอด 2 วัน เปิดการอภิปรายและเข้าญัตติโดย นพ. ชลน่าน ตามด้วยหัวหน้าพรรคและผู้ใช้สิทธิ์หัวหน้าพรรค 5-6 คน จึงเข้าเนื้อหา แบ่งเป็น กลุ่มปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ยาเสพติด และกลุ่มการเมือง ที่มีกลไกบิดเบี้ยว สถานการณ์ไม่ปกติ และกลุ่มสุดท้ายคือการทุจริต การอภิปรายจะจบประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 16 ก.พ. 66 โดยนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะเป็นผู้ปิดการอภิปราย
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการอภิปรายวันแรก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม มีวาระเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยนายชวน ย้ำกับสมาชิกว่า ผู้เสนอญัตติมีสิทธิ์แถลงเหตุผล จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิก
การตอบชี้แจงของรัฐมนตรี สามารถให้รัฐมนตรีที่ได้มอบหมายตอบแทนได้ หากรัฐมนตรีถูกพาดพิงด้วยเรื่องส่วนตัว อนุญาตให้รัฐมนตรีคนนั้นชี้แจงได้
ขณะที่การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็น "ไม่วนเวียน ไม่ซ้ำซาก ไม่ใส่ร้ายเสียดสีบุคคล ห้ามนำเอกสารหรือวัตถุใดมาแสดงในที่ประชุมเว้นแต่ประธานอนุญาต"
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายจะเป็นการแสดงวุฒิภาวะของสมาชิก จึงขอให้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภา เพราะประชาชน เจ้าของประเทศและอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงกำลังติดตามอยู่
คำว่ายุทธการกระชากหน้ากากคนดี นพ. ชลน่าน ชี้แจงว่า “คนดีที่ใส่หน้ากาก ตัวตนเป็นเช่นไรไม่รู้ แต่ดูหน้ากากบอกว่าเป็นคนดี เป็นคนดีที่มีสิทธิเข้ามาดูแลบ้านเมืองมากกว่าคนอื่น ด้วยการอ้างว่าเป็นคนดี… การอภิปรายนี้ ทุกคนจะเห็นตัวตนของคนดีที่ใส่หน้ากากว่าเป็นอย่างไร”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
“เป็นการอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้น คำอภิปรายของพวกเราจะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในประเทศนี้บ้างเมืองนี้ ที่เกิดจากผลการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่ส่งผลต่อพี่น้องประชาชน” นพ. ชลน่าน
“เราใช้คำว่ากระชากหน้ากากคนดี ให้พี่น้องประชาชนเจ้าของประเทศนี้ได้รู้ได้เห็นว่าคนดีที่บอกว่าจะมาคืนความสุขให้พี่น้องประชาชน คนดีที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง แท้ที่จริงเป็นอย่างไร” และ “8 ปีที่แปดเปื้อน” ตามที่สื่อมวลชนตั้งฉายา คืออะไร
สรุปประเด็นที่ นพ.ชลน่าน อภิปราย ได้ดังนี้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในการส่งเสริมปากท้องของประชาชน และเศรษฐกิจตกต่ำจนแพ้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และเศรษฐกิจหลังโควิดของไทย ยังไม่ฟื้นฟูอย่างที่ควรจะเป็น
“แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย เลือกความสงบ จบที่อดอยาก” นายพิธา กล่าว
ประเทศไทยแพ้ทั้งเวียดนาม แพ้ทั้งอินเดีย แพ้ทั้งปากีสถาน ในด้านการแข่งขันภาคการเกษตรที่ไม่มีการยกระดับการผลิตภาคเกษตรเลย ซึ่งนายพิธาระบุว่า “นี่คือความสูญหายของภาษีของพี่น้องประชาชน” และ “ความสูญหายทางเวลา” ทั้งเรื่องของการศึกษา คอรัปชัน ภัยแล้ง ที่ยังไม่สามารถยกระดับและแก้ปัญหาได้
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
“การเมืองเป็นกระดุมเม็ดแรก ที่ติดถูกเมื่อไหร่ เราจะไม่ต้องเถียงกันมาก" นายพิธา กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกลเน้นย้ำถึงความสูญหายทางโอกาสมากมายที่เกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ “ระบอบประยุทธ์” ทั้งดัชนีการทุจริตที่ลดต่ำลงจนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแซงหน้า สภาวการณ์แข่งขันทางการเกษตรที่สู้แม้แต่ปากีสถานไม่ได้ การศึกษาโดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยที่ยิ่งนานไปยิ่งมีอันดับลดลง ไม่นับเรื่องยาเสพติด พนันออนไลน์ ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ที่เชื่อมโยงกลับไปที่คน “มีสี” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
“การเมืองเป็นกระดุมเม็ดแรก ที่ติดถูกเมื่อไหร่ เราจะไม่ต้องเถียงกันมาก ถ้าอยากจะให้เขาไม่ต้องแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย คำตอบคือรัฐสวัสดิการ” นายพิธา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนได้เลือกผู้บริหารประเทศ
นายพิธา กล่าวในช่วงท้ายถึงมาตรา 112 ที่กลายเป็นอาวุธทางกฎหมายที่รัฐบาลใช้กับเยาวชนและประชาชนที่เห็นต่าง
"การใช้กฎหมายรุนแรงอย่างมาตรา 112 กับเยาวชนอายุ 14 ขวบ และมีคนคล้าย ๆ อย่างเขาอีก 18 คน และประชาชนอีก 200 กว่าคน ไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย ไม่ใช่ทางเลือก มันคือทางตันของประเทศไทย… แล้วฟ้องโดยใครก็ไม่รู้" นายพิธา กล่าว
ท้ายสุด หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประชาชนเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อ "ลงมติ" นำไปสู่จุดเริ่มต้นของ "ทศวรรษที่รุ่งโรจน์"
นางบุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ อภิปรายต่อที่ประชุมสภาในญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า เป็นยุคที่ "ยาเสพติดเต็มบ้าน ผู้บริหารสิ้นคิด ทุจริตทุกวงการ ผลาญงบประมาณของแผ่นดิน ยาเสพติดแทบจะวางตามตลาดสด แม้กระทั่งกลางเมืองเช่นคดีของในตู้ห่าว"
ระหว่างนั้น นางบุญญาพร นาตะธนภัท ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า "ขอประท้วงตามข้อบังคับที่ 69 การใส่ร้ายป้ายสี หลังจากมีการอภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีสิ้นคิด โดยมองว่า ผู้อภิปรายพูดจาใส่ร้ายเสียดสีนายกรัฐมนตรีอยู่"
จากนั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้นได้วินิจฉัยว่า การที่กล่าวว่านายกรัฐมนตรีสิ้นคิด อาจจะแรงแต่ไม่เสียหายอะไร ขอให้ผู้อภิปรายระมัดระวังแต่ไม่ถึงกับต้องถอนคำพูด และขอให้หลีกเลี่ยงการใช้คำรุนแรง
ขณะที่ นางบุศริณธญ์ ชี้แจงว่า ตนอภิปรายด้วยความจริงใจ และอยากเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพการบริหารงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม โดยเข้ามารับฟังเพียงแต่ในช่วงแรกเท่านั้น
ช่วงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 15 ก.พ. ภายหลังการอภิปรายถึงการ "เอื้อประโยชน์" ให้คนในครอบครัวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นขอกล่าวชี้แจง โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปรายและเสนอแนะมานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการมาหมดแล้ว แต่ "ยังไม่เห็นผล"
"นโยบายอะไรของท่าน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าท่านได้เป็น (รัฐบาล) อะนะ" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ ยังปฏิเสธว่าไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้คนในครอบครัว หรือบุคคลที่ไหน
"เราพึ่งผ่านห้วงเวลาของวันวาเลนไทน์มาด้วย ผมก็ไม่อยากทำให้เสียอารมณ์ ผมฟังมาตั้งแต่เช้าแล้ว… เรื่องดี ๆ ผมก็รับไว้"
พล.อ. ประยุทธ์ ยังมองว่า การอภิปรายมีเนื้อหาเชิงหาเสียงให้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้คัดค้าน แต่ "คนเราต้องมีมารยาทในการที่จะพูดจากัน… บางอย่างผมรับไม่ได้"
ภายหลังลุกขึ้นกล่าวชี้แจง นายกฯ ได้เดินออกจากสภาไปอีกครั้งหนึ่ง
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
"นโยบายอะไรของท่าน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าท่านได้เป็น (รัฐบาล) อะนะ" พล.อ. ประยุทธ์
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายในฐานะฝ่ายค้าน วิพากษ์วิจารณ์การทุจริตในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ รวมถึงชั้นเชิงทางการเมืองที่ใช้การ "ดูด ซื้อ ปล้น" ส.ส. ซึ่งต่อมารองประธานสภาขอให้ถอนคำกล่าวดังกล่าว เนื่องจากรุนแรงไป
ในช่วงท้าย นายมงคลกิตติ์ สอบถามผ่านสภาไปยังนายกรัฐมนตรีว่า "ผมอยากรู้ว่าในตัวในกาย ในเลือดของ พล.อ. ประยุทธ์ ในเนื้อหนังมังสาของ พล.อ. ประยุทธ์ ในสมอง ในจิตวิญญาณของท่าน มีความสุจริตหลงเหลืออยู่หรือไม่"
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
"กราบสภาไปยังประชาชนที่มอบอำนาจอธิปไตยให้ผมปฏิบัติหน้าที่ได้ถึง 4 ปี"
ก่อนจบด้วยการขออนุญาตสภา "กราบสภาไปยังประชาชนที่มอบอำนาจอธิปไตยให้ผมปฏิบัติหน้าที่ได้ถึง 4 ปี" ซึ่งรองประธานสภาชี้ว่า "เป็นการหาเสียง" ของนายมงคลกิตติ์
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบเพิ่มเติม และได้รับคำยืนยันว่านายมงคลกิตติ์ จะยื่นใบลาออก จากการเป็น ส.ส. ต่อ ประธานสภาฯ ในวันที่ 17 ก.พ. เวลา 09.09 น..
รายละเอียดเพิ่มเติม บีบีซีไทยจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก