
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
"ผมไม่คิดอะไรทั้งนั้น ผมทำให้ดีที่สุด"
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ให้ถือวันประกาศราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 20 มี.ค. 2566 เป็นวันยุบสภา หมายความว่า กกต. ต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัคร ส.ส. ภายในวันที่ 25 มี.ค. เป็นอย่างช้า
เนื้อหาในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งให้ไว้ ณ วันที่ 17 มี.ค. 2566 และเป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่ 4 อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566”
End of เรื่องแนะนำ
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา
เมื่อช่วงเช้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่ปักหลักรอฟังความเห็นของนายกฯ ถึงการยุบสภา ว่าจะเป็นวันนี้หรือไม่ ได้สอบถาม พล.อ. ประยุทธ์ ระหว่างเดินผ่านไม่กี่วินาทีว่า ราชกิจจานุเบกษา จะลง พ.ร.ฎ.ยุบสภา เมื่อไหร่
“ก็คอยสิจ๊ะ” พล.อ. ประยุทธ์ ตอบสั้น ๆ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาไปแล้ว และคาดว่า จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันนี้
ก่อนที่ พ.ร.ฎ.ยุบสภา จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่ยังคงสอบถามถึงกระแสข่าวว่า จะมีการยุบสภาในวันนี้ โดยยืนกรานว่า "ยังไม่พูดอะไร รอราชกิจจาฯ ออกมาก่อน"
"ผมยังเป็นบาลอยู่เลย แล้วจะให้เลิกเป็นรัฐบาลเลยหรือ ไม่รู้จะต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่เหมือนกัน ต้องรอเลือกตั้ง รอจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเร็วก็เร็ว"
สื่อมวลชนยังระดมคำถามในหลากหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้
เมื่อถามว่า ช่วงรอยต่อของรัฐบาลมีการเกียร์ว่างของข้าราชการ:
นายกฯ กล่าวว่า ไม่หวั่นหรอก เพราะกำชับไปแล้ว และพยายามไปตรวจติดตามงานอยู่ ช่วงนี้ก็ไปดูให้มากหน่อย เพราะเป็นกังวลตรงนี้เหมือนกัน โครงการที่ติดค้างอยู่ถึงไหนอย่างไร กำชับแล้วเพราะอนุมัติใหม่ก็ไม่ได้ตามกติกา กกต. โดยในการประชุมครม.พรุ่งนี้ เลขาธิการครม. จะได้ชี้แจงในที่ประชุม เรื่องอำนาจของครม.
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมรับประทานอาหารกับแกนำพรรคภูมิใจไทย เหมือนจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้าหรือไม่:
นายกฯ กล่าวว่า เขาไปทานข้าวด้วยกันไม่ใช่หรือ สื่อไปคิดเอาเองหมดนั่นแหละ สื่อไม่ได้นั่งอยู่กับเขา ก็ไม่รู้เขาพูดอะไรกัน ตนก็ไม่ทราบ ก่อนที่นายกฯ จะย้อนถามสื่อว่า "ทำไมเขาทานข้าวไปไหนตนก็ต้องคุยกันด้วยหมดหรือ เฮ้ยพี่ไปทำอะไรมา พี่ไปกินข้าวกับเขาเพราะอะไร ตนไม่ใช่คนแบบนั้น จุ๊กจิ๊กแบบนั้นผมไม่ใช่"
เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล ระบุจะมีการจับมือกันทางการเมือง
นายกฯ กล่าวว่า สื่อคิดเอาเอง ตนไม่เห็นรูปเขาจับมือกันเลย จับหรือ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
เมื่อถามว่า นายกฯ พร้อมร่วมด้วยได้หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่ทราบ ไม่รู้ ยังไม่เลือกตั้ง"
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “คงไม่คิดอะไรทั้งนั้น ผมก็ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน”
เมื่อถามว่า นายกฯ เดินมาค่อนทางทางการเมืองแล้วคิดว่าไม่ได้ตัดสินใจผิดในการเลือกเส้นทางใช่หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถามอย่างนั้นไม่ได้ ตนก็ตอบไม่ได้ว่าตัดสินใจผิดหรือถูกก็พยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด ผลเลือกตั้งออกมาก็ต้องเป็นไปตามนั้น ประชาชนต้องการอย่างไรก็อย่างนั้นแหละ พอแล้วการเมืองไม่อยากตอบ
เมื่อถามว่า ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิด อยากได้ของขวัญอะไร
นายกฯ กล่าวว่าขอให้ประชาชนมีความสุข ไม่แตกแยก ไม่แบ่งแยกกัน รักสามัคคี และรักษา 3 สถาบันของเราไว้ให้ได้ก็แล้วกัน อยากจะฝากไว้แค่นั้น
เมื่อ 16 มี.ค. ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า หากยุบสภาได้ในวันที่ 20 มี.ค. ก็ควรจะยุบ เพราะสภาจะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค. นี้แล้ว แต่แม้คณะรัฐมนตรี จะมีสถานะกลายเป็นรักษาการ นับแต่วันที่ 21 มี.ค. ก็ยังประชุมและนายกฯ ยังเซ็นเข้า ครม. ได้
นายวิษณุ ยังอธิบายว่า ในทางกฎหมาย จะไม่เรียก “ครม.รักษาการ” เพราะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้เมื่อหลายปีก่อนแล้วว่า “ถ้าเรียกอาจจะเกิดปัญหา” จึงไม่ใช่คำนี้ในภาษาราชการ
รองนายกรัฐมนตรียังอธิบายถึงขั้นตอนการยุบสภาว่า เมื่อยกร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา แล้ว นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยกลับลงมาประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลตามเนื้อหาว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภา เขียนไว้ว่าอย่างไร และถ้า พ.ร.ฎ.บอกว่ามีผลในวันประกาศ ประกาศวันไหนก็ยุบวันนั้น
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายว่า หากยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค. การเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 14 พ.ค. หรือ 55 วันหลังยุบสภา
“การรับสมัครเขตวันแรก น่าจะเริ่มในวันที่ 3 เม.ย. และรับสมัครบัญชีรายชื่อวันแรก น่าจะเป็นวันที่ 4 เม.ย.” นายสมชัย กล่าว
แต่หากกำหนดให้ 7 พ.ค. เป็นจัดการเลือกตั้ง ตามปฏิทินเดิมของ กกต. เท่ากับว่าพรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียง 48 วัน แต่ถ้ากำหนดให้ 14 พ.ค. จะมีเวลาหาเสียง 55 วัน
งบประมาณการจัดการเลือกตั้งที่ ครม.อนุมัติวงเงินรวม 5,945 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายภารกิจที่สำนักงานกกต.ดำเนินการ 5,100 ล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้ประมาณ 4,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80 จากวงเงินที่ขอไป ส่วนงบประมาณของหน่วยงานสนับสนุนทางสำนักงบประมาณจะมีการจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานดังกล่าว
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก