เป็นประจำทุกครั้งที่เมื่อส่งนักเรียนชุดสุดท้ายกลับบ้าน ประตูโรงเรียนบ้านโคกทอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จะปิดทันที เดิมทีในช่วงวันหยุด ครู 9 คนโรงเรียนแห่งนี้ จะสับเปลี่ยนมาดูแลความเรียบร้อยด้านใน แต่สุดสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย ที่ครูจะได้ทำหน้าที่เวรรักษาการณ์ เช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ หลัง ครม. มีมติให้ยกเลิกครูเวร
อ่าน : สพฐ.ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ยกเลิก “ครูเวร” ทันที
ที่ตั้งของโรงเรียนที่ด้านหนึ่งเป็นทางตัดผ่านเข้าชุมชนและวัด แต่อีกด้านคือไร่นาและที่โล่ง จึงเป็นเรื่องยากที่ในช่วงมืด หรือปลอดคน จะสังเกตเห็นความผิดปกติ หรือคนนอกแอบเข้ามา งบประมาณที่มีจำกัด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถสร้างรั้วได้ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างถึง 7 ไร่ 3 งาน บางจุดทำได้แค่ล้อมรั้วลวดหนามไว้ ส่วนกล้องวงจรปิด 12 ตัว ก็ไม่เพียงพอที่จะจับภาพได้ครบทุกมุม อย่างเมื่อหลายปีก่อน ก๊อกน้ำในโรงเรียน ถูกขโมยเกลี้ยงและยังจับคนร้ายไม่ได้
ถ้าไม่มีครูเวร ครูห่วงทรัพย์สินด้านในอาคารเรียนที่มีทั้ง ทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับบริจาคมา ถึงมีไม่มากและตกรุ่น แต่ถ้าหายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนี่เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กๆ
การใช้เทคโนโลยี อย่างกล้องวงจรปิด เป็นแนวทางที่ถูกพูดถึงมาก เพื่อนำมาช่วยเป็นหูเป็นตาแทนครูเวรรักษาการณ์ แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ทำได้ อย่างที่โรงเรียนบ้านโคกทอง ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป.6 รวม 112 คน
อ่าน : มติ ครม. ยกเลิก “ครูเวร” ทั่วประเทศ นายกฯ ชี้เทคโนโลยีพัฒนาแล้ว
สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแต่ละปี ตามรายหัวนักเรียน ชั้นอนุบาล 1,600 และ ประถม 1,900 บาท งบฯ ส่วนนี้ลำพังเอามาใช้จัดการเรียนการสอน เป็นค่าใช้จ่ายในโรงเรียนทั้งปี “แทบไม่พอ” ถ้าต้องเอามาซื้อกล้องวงจรปิดเพิ่ม หรือ จ้างคนรักษาความปลอดภัยอีก โรงเรียนจ่ายไม่ไหว ส่วนผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่รายได้น้อย จะให้เจียดเงินมาช่วยก็ลำบาก
ส่วนแนวทางที่จะให้ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ หรือฝ่ายปกครองท้องถิ่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ช่วยมาดูแลทรัพย์สินความปลอดภัยให้โรงเรียนนั้น ทำได้แค่ไหน
ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่เทศบาลตำบลเขาขวาง ซึ่งในรัศมีพื้นที่ที่ดูแล มีโรงเรียนเล็กถึง 4 แห่ง เจ้าหน้าที่อยากช่วยเหลือเพราะเป็นโรงเรียนชุมชน แต่ถ้าต้องแบ่งเวร แบ่งกำลังคนจากท้องถิ่นที่มีน้อยอยู่แล้ว ไปดูแลทั้งหน่วยงานตัวเองและ รร.ด้วย ก็เกินกำลังเจ้าหน้าที่ กระทบงานหลัก และที่สำคัญคือ หากเกิดความเสียหายขึ้น ขอบเขตความรับผิดชอบข้ามหน่วยงาน ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ถึงการยกเลิกครูเวรรักษาการณ์ สะท้อนมิติความเข้าใจและเห็นใจครู แต่ครู ฝ่ายปกครองท้องถิ่น และอีกหลายส่วน สะท้อนตรงกันว่า มาตรการอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยหลังจากนี้ยังคลุมเครือ อยากให้มีการออกระเบียบหรือคำสั่งที่ชัดเจนควบคู่มาด้วยโดยด่วน เพื่อกำหนดหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และหลักพิงที่ชัดเจนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเรื่องกำลังคน งบประมาณ ไม่ให้ซ้ำซ้อน สับสนหรือสร้างภาระให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
อ่าน :
กทม.ลั่นยกเลิก “ครูเวร” 100% ตั้งแต่ ก.ย.66
สพฐ.ชง ครม.ขอ “ภารโรง” คืนให้ทุกโรงเรียน ลดภาระ “ครูเวร”