ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ วัย 79 ปี เคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา มาแล้ว 1 สมัย เมื่อปี 2539
พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) มีข้อตกลงร่วมกันเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) นั่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 เป็นโควตาของพรรค ก.ก. และรองประธานสภา คนที่ 2 เป็น ส.ส. จากเพื่อไทย
การแถลงข่าวเมื่อช่วงค่ำวันนี้ (3 ก.ค.) ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ เป็นข้อสรุปก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกประธานสภาและรองประธานสภา 2 คน เพียงหนึ่งวัน
ก้าวไกล และเพื่อไทย มีข้อสรุปร่วมกันใน 4 ประเด็น โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตามที่พรรคการเมือง 8 พรรค ได้ประชุมหารือกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา โดยมอบหมายให้ก้าวไกลและเพื่อไทย เจรจาตกลงร่วมกัน ทางพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย มีข้อตกลงร่วมกันเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา โดยมี ส.ส. จากก้าวไกลเป็นรองประธานสภา คนที่ 1 และ ส.ส. เพื่อไทย เป็นรองประธานสภา คนที่ 2 โดยอีก 6 พรรคที่เหลือพร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้
นายพิธา กล่าวว่า ก้าวไกลและเพื่อไทย ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาและรองประธานสภาจะ "พร้อมผลักดันวาระต่าง ๆ ที่ทำให้รัฐสภา ไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน"
ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภา ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุนนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลงเอ็มโอยูที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566
End of เรื่องแนะนำ
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
เดิมทั้ง 8 พรรคร่วม ถูกเชิญให้มาร่วมแถลงข่าว ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นการแถลงร่วมกันระหว่างก้าวไกล และเพื่อไทย
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงระหว่างสองพรรค ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่าง พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และ ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ
"เพื่อไทย และก้าวไกล เชื่อว่าข้อตกลงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไปบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566" นายพิธา กล่าว
ด้าน นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาชิงตำแหน่งประธานสภาอย่างแน่นอน และแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อขึ้นมา ทางพรรคก็ยืนยันตามแนวทางที่ตกลงกับพรรคก้าวไกล
"มั่นใจว่าสมาชิกเรายอมรับตามแนวทางที่พรรคได้พูดคุย จะไม่มีการเสนอชื่อสมาชิกเราขึ้นไปแข่ง และพรรคอื่นก็ไม่มีสิทธิมาเสนอชื่อสมาชิกเราแข่ง ถึงแม้เสนอแข่ง พรรคเราก็ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้พูดคุยกันไว้" นพ.ชลน่าน กล่าว
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
พรรคประชาชาติ ซึ่งมีนายวันนอร์ เป็นหัวหน้าพรรค หิ้ว ส.ส. เข้าสภาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจำนวน 9 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขตที่มาจากจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด 7 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2 คน รวมทั้งนายวันนอร์
หากการโหวตเลือกประธานสภาในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) นายวันนอร์ ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด จะเป็นอีกสมัยที่เก้าอี้ประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา เช่นเดียวกับการเป็นประธานสภาของนายชวน หลีกภัย เมื่อปี 2562 ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ที่นั่งเป็นพรรคการเมืองอันดับ 4 ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างจากการโหวตเลือกประธานสภา นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา
ประเด็นสำคัญก่อนหน้านี้ที่พรรคก้าวไกลต้องการที่นั่งประธานสภา เพื่อให้สภาโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งการผลักดันกฎหมายสำคัญ เมื่อมีชื่อของนายวันนอร์ ชิงตำแหน่งเป็นประธานสภา บทบาทส่วนนี้จะเป็นอย่างไร
ในการแถลงข่าวเมื่อช่วงค่ำ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของนายวันนอร์ และได้มีการพูดคุยเรื่องความคาดหวังต่อบทบาทประธานสภาจนถึงช่วงกลางดึกคืนวันที่ 2 ก.ค.
"ได้สนทนากันนานมากจนเกือบเที่ยงคืนในหลาย ๆ ประเด็น… ยืนยัน มั่นใจ และเชื่อมั่นใน อ.วันนอร์ ว่าจะสามารถทำบทบาทนี้ได้ดี" เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าว
ขณะที่นายพิธา กล่าวย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อนายวันนอร์ว่า มีความชัดเจนเรื่องความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพ และมีประชาชน รวมทั้งการทำหน้าที่ในอดีต
"ส่วนตัวผมรู้สึกมั่นใจใน อ.วันนอร์ จากการที่ได้ติดตามบทบาทในฐานะนักการเมืองและประธานสภามาก่อน"
ก่อนหน้านี้ในเช้า ที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคเพื่อไทย เห็นควรเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ "วันนอร์" ต่อคณะเจรจาของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อสนับสนุนให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยหากทั้งสองพรรคมีข้อสรุปชัดเจน จะมีการแถลงร่วมกันในช่วงค่ำวันนี้ หลังเสร็จสิ้นรัฐพิธีประชุมสภา
ช่วงเที่ยงที่ผ่านมาภายหลังการประชุม ส.ส. 141 คน ยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากพรรคเพื่อไทย มีเพียงการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อของแกนนำบางส่วน เช่น นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พท. ที่เปิดเผยว่า ต้องรอให้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นผู้แถลงข้อสรุปโดยคาดว่าจะเป็นช่วงค่ำหลังจาก ส.ส. ทั้งหมด เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภา
นายสุทิน กล่าวยืนยันว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทย วันนี้มีข้อสรุปเรื่องประธานสภาแน่นอน และเชื่อว่า "ประชาชนจะไม่ผิดหวัง" โดย กก.บห. พรรค จะฟังเสียงสมาชิก ส.ส. ให้ได้มากที่สุด
"จะจบยังไง เชื่อว่าจะอธิบายสังคมได้ และคิดว่าจะแฮปปี้กว่าที่ผ่านมา" นายสุทิน กล่าว
ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย
ก่อนหน้าการประชุม ส.ส. พรรค ในช่วงเช้า แกนนำอย่างน้อยสองคน ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า พรรคเตรียมเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือนายวันนอร์ ชิงเก้าประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทย และก้าวไกล ที่เสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก ก้าวไกล ชิงตำแหน่งประธานสภา
"ในเมื่อพรรคเพื่อไทย กับก้าวไกล มีข้อสรุปไม่ลงตัวเราก็เสนอคนกลางไป" นายสุริยะกล่าว พร้อมบอกว่า เบื้องต้นได้มีการทาบทามนายวันนอร์แล้ว
ด้านนายวันนอร์ เปิดเผยกับรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” ช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ยังไม่ทราบถึงการเสนอชื่อ แต่ "ถ้าเพื่อไทย มีมติออกมาแล้ว ก็ยินดีที่จะรับ แต่ต้องฟังเสียงพรรคก้าวไกล และเสียงของประชาชนด้วย"
ปัจจุบัน นายวันนอร์ มีอายุ 79 ปี เขาเป็นนักการเมืองมุสลิมจากชายแดนใต้ชาว จ.ยะลา และแกนนำนักการเมืองมุสลิมกลุ่มวาดะห์ ที่เคยสังกัดพรรคการเมืองมาแล้วหลายพรรค โดยเป็น ส.ส. สมัยแรกที่ จ.ยะลา ในปี 2522 ภายใต้สังกัดพรรคกิจสังคม
คอการเมืองเก่าอาจจะรู้จักวันนอร์ในฐานะแกนนำ ส.ส. กลุ่มวาดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่วันนอร์ก่อตั้งขึ้นร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ขณะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2529 ก่อนแยกตัวออกจากพรรคมาภายหลัง
บทบาทการเป็นฝ่ายบริหารในรัฐบาล เขาเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (2537) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย (2538 และ 2544 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-รองนายกรัฐมนตรี (2547 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร)
ส่วนในสนามการเลือกตั้ง ส.ส. นักการเมืองมุสลิมชาวยะลารายนี้ เป็น ส.ส. มาแล้ว 10 สมัย (รวมปี 2566) ภายใต้พรรคการเมืองหลายพรรค โดยล่าสุด พรรคประชาชาติของวันนอร์ เพิ่งก่อตั้งมาในปี 2561 ก่อนลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2562
บทบาทและจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของวันนอร์ อาจแบ่งออกได้เป็นช่วงต่าง ๆ ดังนี้
วันนอร์และกลุ่มวาดะห์ จากประชาธิปัตย์-ความหวังใหม่ สู่ไทยรักไทย
บทความในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า เขียนถึงเส้นทางของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2535 ที่ได้ ส.ส. มาหลายสมัย ในภายหลัง "ชื่อเสียงของกลุ่มวาดะห์ ต้องตกต่ำลงอย่างมาก" เมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2548 ซึ่งขณะนั้น ส.ส. กลุ่มนี้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียงแน่นมากว่า 20 ปี
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก จะมี ส.ส. เข้าร่วมประชุม 499 คน เนื่องจาก ส.ส. ก้าวไกล ขาดคุณสมบัติ 1 คน
ประธานสภาชั่วคราว คือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากอาวุโสสุด (89 ปี)
ส.ส. ทั้ง 499 คนมีสิทธิเสนอชื่อได้คนละ 1 ชื่อ โดยจะเสนอชื่อ ส.ส. จากพรรคเดียวกัน หรือต่างพรรคก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมี ส.ส. รองรับอย่างน้อย 20 คน จึงได้ไปต่อ
ผู้ถูกเสนอชื่อต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อสภา ซึ่งหมายความว่าจะเสนอชื่อลับหลังโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมไม่ได้
ส.ส. ทุกคนรับซองลงคะแนน แล้วโหวตเป็นการลับใส่ซองปิดผนึก จากนั้นนำไปหย่อนลงหีบ
ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นประธานสภา โดยไม่จำเป็นต้องได้เสียงโหวตเกิน 250 เสียง
ที่มา: บีบีซีไทยสรุปจากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก
Related Stories
พฤศจิกายน 6, 2024
พฤศจิกายน 6, 2024