
Online
16 มี.ค. 2566
|
"นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นการย้าย "กทม.เสาชิงช้า" ไปยังกทม.2 (ดินแดง) เพื่อปรับปรุงที่เดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ หลังจากมีเสียงสะท้อนของพนักงานราชการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าโดยรอบ กทม. เกรงได้รับผลกระทบหากกทม.ย้ายที่ บ้างกังวลที่พักอาศัยไกลที่ทำงาน บ้างที่ทำงานห่างจากโรงเรียนลูก บ้างร้านค้าต้องซบเซา
โดย "นายชัชชาติ" อธิบายว่า แนวคิดในการปรับศาลาว่าการ "กทม." ให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนในหลายมิติ มีพื้นที่ซิตี้ แลบ (City Lab) สำหรับนั่งทำงานวิจัย คล้ายกับเป็นที่ทำงานหรือว่าที่ให้ประชาชนมาใช้เพื่อประโยชน์ของเมือง
แต่การจะเริ่มโครงการได้นั้น ต้องย้ายทุกส่วนงานไปที่กทม. 2 ก่อน ต่อไปเป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่ที่กทม. 2 คาดว่าใช้เวลาปรับปรุงประมาณปีครึ่ง ซึ่งรวมถึงปรับปรุงตัวอาคารด้วย เพราะอาคารสร้างมา 26 ปีแล้ว สภาพเสื่อมโทรมและเก่ามาก จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย
ส่วนประเด็นข้อกังวลผลกระทบต่อพนักงานและร้านค้า คงเป็นปัญหาระยะสั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อยากย้ายถิ่น เรื่องนี้ต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจให้มองประโยชน์ของเมืองยิ่งใหญ่กว่า โดยช่วงแรกๆ อาจจะจัดมินิบัสรับ-ส่ง
ในส่วนร้านค้า "นายชัชชาติ" มองว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าสิ่งที่เราจะทำ เป็นจุดที่มีคนเข้าออกตลอด อาจจะ 24 ชั่วโมงก็ได้ มิติพื้นที่นี้เป็นที่ที่มีค่าเกินกว่าที่จะใช้เป็นสำนักงานเอกสาร เราจะใช้เป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางของกรุงเทพ บันทึกเรื่องราว ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะกรุงเทพในอดีตไม่มีที่ไหนบรรยายถึงสิ่งมีคุณค่าที่ผ่านมาไว้แล้ว
หลังจากนี้จะใช้เวลาอีกประมาณไม่เกิน 8 เดือน เพื่อศึกษารายละเอียดพื้นที่ ความเชื่อมโยงทั้งในแง่ของลานคนเมือง ตัวศาลาว่าการ รวมถึงชุมชนโดยรอบข้าง ซึ่งต้องศึกษาบริบทต่างๆ ของ "กทม." การเชื่อมโยงกับชุมชนต่างๆ อย่างไร รวมทั้งเนื้อหาต่างๆ ที่คาดว่าพื้นที่นี้ควรมีไว้ไม่ใช่เป็นเหมือนที่พัก ที่ตั้งแสดงโชว์และมีไฟส่องด้วยเฉยๆ ที่นี่ควรจะเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมร่วมกันทั้งผู้มาใช้บริการและคนในชุมชน แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามสถานการณ์ หลักๆ คือพื้นที่ที่คนได้มาเจอกัน อาจจะมีการถกแถลง เพราะเป็นสภาเก่าอยู่
"โครงการนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเราระบบราชการ กรรมการกังวลว่าถ้าเราทำขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ตัดริบบิ้นเปิดงานแล้วจบ เราตัดสายสะดือแล้วมันต้องเลี้ยงให้โตเลย มันจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องศึกษาว่าสุดท้ายแล้วใครจะบริหารจัดการพื้นที่นี้ให้มีคุณภาพ เราอาจจะมีตัวอย่างจาก สวทช. ต้องทำด้วยความรอบคอบ ต้องให้ทุกอย่างคิดได้รอบด้าน พยายามให้เสร็จซึ่งน่าจะปลายๆ สมัย แต่ไม่เร่ง" "นายชัชชาติ" ระบุ
ทั้งนี้ ศาลาว่าการ "กทม. เสาชิงช้า" เริ่มตั้งแต่ “วางศิลาฤกษ์” อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อ 24 มิถุนายน 2499 นับจนถึงวันนี้ “ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า” ได้อยู่คู่กรุงเทพมหานครเกือบเต็ม 66 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่น่าสนใจ
เพิ่ม คมชัดลึก ออนไลน์
ลงในหน้าจอหลักของคุณ