
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ส.ส. พรรคก้าวไกลพร้อมใจกันสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว สกรีนข้อความว่า “เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน” แล้วสวมเสื้อสูททับด้านนอก ในระหว่างเข้ารายงานตัวที่รัฐสภา เมื่อ 27 มิ.ย.
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยึดฤกษ์ “วันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย” นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรค เข้ารายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
พรรค ก.ก. จงใจเลือกวันประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย” นั่นคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นำผู้แทนฯ จำนวน 30% ของสภาชุดที่ 26 เข้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ช่วงเช้าวันนี้ (27 มิ.ย.)
“วันที่ 27 มิ.ย. มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย จึงเชื่อว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี” นายพิธากล่าว ก่อนนำ ส.ส. 150 คนเข้ารายงานตัว
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. บอกกับบีบีซีไทยว่า “วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดของสัปดาห์ เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก” และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า หัวหน้าพรรคเพิ่งหายจากโรคโควิด-19 และสัปดาห์ก่อน พรรคก็จัดสัมมนาภายใน 3 วัน จึงเลือกมารายงานตัววันนี้
สำหรับ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองฯ จัดทำขึ้นโดยแกนนำคณะราษฎร ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 มีเนื้อหารวม 39 มาตรา มีการจัดวางโครงสร้างอำนาจไว้ 4 ส่วน และกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
End of เรื่องแนะนำ
มาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็ถูกยกเลิกไป เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อ 10 ธ.ค. 2475 โดยถือเป็น “รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย” จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการราษฎรตั้งขึ้น แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้
ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ด้านราชสำนัก เคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร เช่น การเติมคำว่า "ชั่วคราว" ในธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของไทย
“เป็นเพราะร่างที่คณะราษฎรนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สั้นจนมองไม่เห็นอะไร ต้องการให้ทำฉบับใหม่ ซึ่งสุดท้ายก็ผลิดอกออกผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งก็ไม่ได้ทรงเห็นด้วยทุกอย่างนะ แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน" ศ.พิเศษ ธงทอง ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยในวาระครบรอบ 79 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคตของ ร. 7 เมื่อปี 2562
ผ่านมา 91 ปีนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สังคมการเมืองไทยยังวนเวียนอยู่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากประเทศไทยผ่านรัฐประหารมา 13 ครั้ง โดยทุกครั้งผู้ก่อการต้อง “ฉีกรัฐธรรมนูญเดิม” แล้วยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ทำให้ไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ
รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แม้ผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ชาวก้าวไกลมองว่า ที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการฝังอาวุธที่ถูกใช้สืบทอดอำนาจของ คสช. เอาไว้
ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ภายใต้การนำของพรรค ก.ก. กำหนดให้การฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็น “วาระร่วม” ข้อแรกของพวกเขา
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
นักการเมืองพรรคสีส้ม ตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคณะราษฎร และนำจิตวิญญาณและอุดมการณ์ต่าง ๆ มาขับเคลื่อนงานการเมือง
แม้แต่ในการเคลื่อนขบวนขอบคุณประชาชน 14 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้พรรค ก.ก. ซึ่งตั้งต้นที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดแรก พรรค ก.ก. ก็เลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เป็นจุดปล่อยขบวนรถแห่ เมื่อ 15 พ.ค.
“วันนี้สิ่งที่เราจะทำต่อไป คือการทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองมันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ตามความฝันของคณะราษฎร คือการทำให้ในประเทศนี้ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง” นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรค ก.ก. ปราศรัยบนรถแห่ ก่อนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลาว่าการ กทม.
สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์แห่งที่ 2 ที่สร้างโดยแกนนำคณะราษฎร และทำพิธีเปิดโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ 24 มิ.ย. 2483 หรือ 8 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยถือเป็น “ตัวแทนสัญญะ” ของการไปสู่ระบอบใหม่ที่มีเอกราชสมบูรณ์ มีความปลอดภัย มีเศรษฐกิจดี มีความเสมอภาค มีเสรีภาพ และมีการศึกษาดี อันเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ โรม ร่วมงานเสวนาที่ ม.ธรรมศาสตร์ ในวาระรำลึก 91 ปี เหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า การปักหมุดหมายระลึกถึงวันชาติ การเปลี่ยนแปลงการปกครองสามารถทำได้ ซึ่งสมัยพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เคยหารือ ชวน หลีกภัย ประธานสภา ว่าต้องการให้ 24 มิ.ย. เป็นวันหยุด วันเฉลิมฉลอง เข้าใจว่าบทบาทของประธานสภาในเวลานั้นคงต้องส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับเรื่องหรือไม่ ไม่รู้ แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอม
“รอบนี้ฟ้าใหม่ ประธานสภาคงไม่ใช่คนเดิมแน่ แต่รอบนี้นายกฯ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และได้เฉลิมฉลองวันที่ 24 มิ.ย. ในฐานะวันชาติด้วยกัน” นายรังสิมันต์ กล่าวเมื่อ 24 มิ.ย.
ต่อมา 26 มิ.ย. นายรังสิมันต์ชี้แจงว่า การเสนอให้เปลี่ยนวันชาติเป็น 24 มิ.ย. ไม่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ถกเถียงมานานแล้ว แต่ที่มาเป็นประเด็นขณะนี้ เพราะ “มีความมุ่งหมายทางการเมืองที่ต้องการใช้ทุก ๆ เรื่องเพื่อสร้างประเด็นทางการเมือง ด้อยค่าพรรคก้าวไกล มุ่งหวังว่าจะทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้”
เขาย้ำว่า สิ่งที่พูดในงานเสวนา ไม่ได้ต่างจากที่นักประวัติศาสตร์พูด ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ ต้องมีการพูดคุยกันในสังคม ไม่ใช่วาระที่ต้องพูดคุยกันในเร็ว ๆ นี้ และเป็นมุมมองส่วนตัว
ส่วนการออกมาเปิดประเด็นในช่วงนี้ จะกลายเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้นายพิธาเสียเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น ทั้งโฆษกพรรค และ เลขาธิการพรรค ก.ก. หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ตรง ๆ โดยนายชัยธวัชบอกว่า นายรังสิมันต์พูดถึงประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของประชาธิปไตย เรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาถกเถียงกัน
ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลจัดงานฉลองวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 และมีนิทรรศการที่อาคารอนาคตใหม่ ถ.รามคำแหง
การออกมาเสนอให้เปลี่ยนวันชาติของนักการเมืองพรรคสีส้ม ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากฝ่ายอนุรักษนิยม เนื่องจากปัจจุบัน วันชาติตรงกับ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ในปี 2481 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร กำหนดให้มีวันชาติเป็นครั้งแรก และให้มีการจัดงานฉลองวันชาติครั้งแรกในปีต่อไปคือ 24 มิ.ย. 2482 พร้อมเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เข้ามาบริหารประเทศแล้ว โดยจอมพล ป. ก็เป็นสมาชิกคณะราษฎรเช่นกัน
ในสายตาของผู้ก่อการปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 คือวันแห่งการ "สร้างชาติใหม่" ภายใต้การปกครอง "ระบอบใหม่"
ทว่า 24 มิ.ย. เป็นวันชาติไทยอยู่ได้ 22 ปี ก็ถึงกาลอวสาน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารปี 2500 และเปลี่ยนวันชาติใหม่ในอีก 3 ปีต่อมา โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ถือวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก