
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในเขตธนบุรี เช้าวันที่ 9 ม.ค. 2563
เว็บไซต์ประเมินคุณภาพอากาศทั้งในไทยและนานาชาติรายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในสัปดาห์นี้ (6-11 มี.ค.) ยังมีแนวโน้มเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะที่ยังพบว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่เผาเศษซากพืชและวัชพืช คาดว่าอาจจะซ้ำเติมสถานการณ์ฝุ่นพิษอีกรอบ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานว่า ผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในช่วงเข้าที่ผ่านมา ตรวจวัดได้ 44-80 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 57.5 มคก./ลบ.ม. . และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
แม้ว่าในช่วงวันที่ 6-12 มี.ค. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ในสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในวันที่ 8 มี.ค.2566 เป็นต้นไป อากาศเริ่มอยู่ในสภาวะเปิด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมตัวมีแนวโน้มลดลง ในช่วงนี้มวลอากาศเย็นยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แต่เริ่มมีกำลังอ่อนลง มีอากาศเย็นตอนเช้า กลางวันอากาศร้อน (ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย) ระยะนี้ไม่มีฝน ทิศทางลมเริ่มแปรปรวนเป็นลมทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ และลมใต้ พัดแทนที่ลมหนาว เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน ควรระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้
End of เรื่องแนะนำ
ส่วนระหว่างวันที่ 7-8 มี.ค. พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ แต่ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
ที่มาของภาพ, เว็บไซต์ IQAir
คาดการณ์แนวโน้มคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 6-11 มี.ค.
พยากรณ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) กรุงเทพมหานครโดย ไอคิวแอร์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอ้างอิงโดยสื่อมวลชนบ่อยครั้ง ในสัปดาห์นี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานของศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยไอคิวแอร์ คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 มี.ค. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index-AQI) ระหว่าง 154 สหรัฐ AQI อยู่ในระดับสูงสุด 167 สหรัฐ AQI
ส่วนระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลต่อผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์คุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ณ วันที่ 6 มี.ค. พบว่า ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 7-13 มี.ค.
ที่มาของภาพ, ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
ไอคิวแอร์ ยังรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ โดยกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือยังคงมีดัชนีคุณภาพอากาศที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่น จ.พะเยา และลำปาง ซึ่งมีค่าดัชนี AQI ณ เวลา 10.00 น. ค่อนข้างสูงอยู่ระดับสีม่วงที่ 224 และ 214 ตามมาด้วย จ.เชียงใหม่, จ.แม่ฮ่องสอน, จ.กำแพงเพชร, จ.ลำปาง และ จ.เชียงราย
นอกจากนี้ยังพื้นที่ในส่วนภาคกลางด้วยเช่น จ.ราชบุรี และ สมุทรสงคราม
ขณะที่ผู้สื่อข่าวพิเศษของบีบีซีไทย รายงานเมื่อวานนี้ ( 5 มี.ค.) ว่า ในพื้นที่ อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา ยังพบเกษตรกรเผาเศษซากพืช วัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือจากการทำเกษตรกรรม
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ในพื้นที่ อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา ยังพบเกษตรกรเผาเศษซากพืชที่เหลือจากการทำเกษตรกรรม
ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่า การเผาเศษซากพืชทางการเกษตร รวมถึงสถานการณ์ไฟป่าในหลายพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ และสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5ไมครอน (PM2.5)
ข้อมูลจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร สิ่งแวดล้อม ซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่า หากพิจารณาจุดความร้อนในประเทศไทยที่รายงานโดย GISTDA (4 มี.ค.) เพิ่มขึ้นจาก 2,082 จุด เป็น 2,583 จุด โดยที่ไทยเผาเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่เมียนมาเท่านั้นที่มีจำนวนจุดเผาอยู่ที่ 6,701 จุด
นักวิชาการรายนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในภาคเกษตรของประเทศไทยยังมีการเผาเพิ่ม การเผาในข้าวยังคงนำโด่ง 178 จุด ตามมาด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 68 จุด และอ้อย 62 จุด พื้นที่เกษตรอื่นอีก 183 จุด ส่วนการเผาในภาคป่าไม้ วันนี้ยังสูงและมีการเผาเพิ่มขึ้นจาก 1,569 จุด เป็น 1,991 จุด
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก