
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ที่สถานที่เลือกตั้งกลาง ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
ประชาชนตื่นตัวออกไปรอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่เปิดหีบลงคะแนนเสียงในเวลา 08.00 น. ท่ามกลางอากาศร้อนจัดตลอดทั้งวันที่ 7 พ.ค. แม้โดยภาพรวม กกต. สรุปว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็ยอมรับว่าพบ “ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่” ประจำหน่วยเลือกตั้ง จ.นนทบุรี
หนึ่งในปัญหาที่ผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าร่วมกันถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หนีไม่พ้น การเขียนรหัสเขตเลือกตั้งที่หน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิด หรือกรอกรหัสจังหวัดผิด ไม่ตรงกับรหัสไปรษณีย์ตามภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยพบปัญหานี้ในอย่างน้อย 2 จังหวัดคือ จ.เชียงใหม่ และ จ.นนทบุรี ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า บัตรเลือกตั้งที่ประชาชนกากบาทไป จะส่งถึงเขตเลือกตั้งจริงของพวกเขาเพื่อนำไปนับรวมคะแนนเสียงในวันที่ 14 พ.ค. หรือไม่ และจะกลายเป็นบัตรเสียหรือไม่
นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวยอมรับว่า จากการตรวจสอบพบว่ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จ.นนทบุรี เขียนรหัสเขตเลือกตั้งที่หน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิด โดยเขียนของหน่วยเลือกตั้ง จากเขต 2 แต่เจ้าหน้าที่กรอกเป็นเขต 4 และกรอกรหัสไปรษณีย์แทนรหัสจังหวัด ซึ่งพบผิดพลาดประมาณ 100 คน เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบ ก็มีการเปลี่ยนหีบบัตรเลือกตั้งใหม่
ส่วนข้อถกเถียงในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่กรอกรหัสจังหวัดผิด นายแสวงชี้แจงว่า รหัสที่ กปน. กรอก 2 ตัวแรกคือรหัสจังหวัด ส่วน 3 ตัวหลังคือรหัสเขตเลือกตั้ง ซึ่งรหัสเขตเลือกตั้ง จะเป็นตัวเลขคนละตัวกับรหัสไปรษณีย์ เช่น จ.นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 2 ตัวแรกคือ 12 แต่รหัสเขตเลือกตั้ง 2 ตัวแรกคือ 11
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบหลังเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 100 กว่าคน เจ้าหน้าที่จึงทำการเปลี่ยนหีบบัตร ซึ่งหลังปิดหีบแล้ว จะมีการคัดแยก โดยเจ้าหน้าที่ กปน. และไปรษณีย์ ภาพรวมการจ่ายหน้าซองของบัตรไม่กระทบการใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิลงคะแนนให้พรรคการเมืองไหน ก็จะได้คะแนนตามที่ลงอย่างนั้น ยืนยันว่าสามารถส่งบัตรได้ตรงตามเขตแน่นอน" เลขาธิการ กกต. กล่าว
End of เรื่องแนะนำ
เขายอมรับว่า “เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของเรา แต่ทุกอย่างปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ต้องตรวจสอบว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่” และยืนยันว่า เหตุที่เกิดขึ้นวันนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 พ.ค. เพราะการเลือกตั้งในวันนั้น เป็นการเลือกตั้งตามหน่วย ไม่มีการใส่ซองส่งไปรษณีย์แล้ว
ต่อมาหลังปิดหีบ กกต. แก้ไขข้อมูลใหม่ โดยระบุว่าจากการตรวจสอบที่ จ.นนทบุรี พบความผิดพลาด 48 ราย
ด้านพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เตรียมเปิดแถลงข่าววันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) เรื่องความผิดปกติในการเลือกตั้งล่วงหน้า หลังได้รับข้อมูลร้องเรียนมาจากประชาชนทั่วประเทศ
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. ได้ยกตัวอย่างความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนเขตเลือกตั้งที่หน้าซองผิด หรือการไม่เขียนรหัสเขตที่หน้าซองบัตร ซึ่ง “เป็นความผิดพลาดที่ผิดปกติอย่างยิ่ง” โดยเฉพาะเมื่อ กกต. มีงบประมาณจัดการเลือกตั้งสูงถึง 5.9 พันล้านบาท เป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน แต่กลับปล่อยให้เกิดความผิดพลาดง่าย ๆ แบบนี้ นอกจากนี้ยังมีหลายความผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งหรือไม่ เช่น ไม่ยอมแปะประกาศใบแนะนำตัวผู้สมัครที่หน้าหน่วยเลือกตั้งให้ครบ โดยเฉพาะใบประกาศของผู้สมัครพรรคก้าวไกล ที่หายไปเยอะที่สุดจากหน่วยเลือกตั้ง
“กกต. ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ตอบมาให้ได้ว่าบัตรลงคะแนนที่อาจกลายเป็นบัตรเสียจากความผิดพลาดของ กกต. เหล่านี้ กกต. จะรับผิดชอบแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ถามกลับมาที่ประชาชนว่ามันผิดไปแล้ว จะให้แก้อย่างไร” เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าว
ตลอดทั้งวัน บรรยากาศการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นไปด้วยความคึกคัก อย่างที่หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) ซึ่งเป็นจุดที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าถึง “ครึ่งแสน” มีประชาชนมารอใช้สิทธิจำนวนมากตั้งแต่ยังไม่เปิดหีบลงคะแนน ทั้งนี้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้วิ่งออกกำลังกายมาถึงหน่วยเลือกตั้งแห่งนี้ และได้ตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนเวลาเปิดหีบ โดยเน้นย้ำให้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิ และจัดระเบียบผู้เข้าใช้สิทธิให้ไม่แออัด
เช่นเดียวกับสถานที่เลือกตั้งกลาง เต็นท์บริเวณสำนักงานเขตห้วยขวาง ซึ่งประชาชนพากันมาใช้สิทธิอย่างหนาแน่นตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาววัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มวัยอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งคอยคำแนะนำให้สแกนดูหมายเลขชุดบัตรเลือกตั้ง และคอยอำนวยความสะดวก รวมถึงแจกน้ำดื่ม ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว
ที่มาของภาพ, สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจเยี่ยมความพร้อมสถานที่เลือกตั้งกลาง เขตบางกะปิ ม.รามคำแหง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า มีประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 2,350,969 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,287,045 คน
กกต. ทุกจังหวัดจัดสถานที่ลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 447 แห่ง และในเขตเลือกตั้ง 422 แห่ง
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดกว่า 8 แสนคน มีหน่วยเลือกตั้งกลางล่วงหน้านอกเขต ทั้งหมด 74 หน่วย
หน่วยเลือกตั้งกลางที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) รวม 5.2 หมื่นคน รองลงมาคือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน รวมกว่า 4 หมื่นคน และอาคารและเต็นท์บริเวณสำนักงานเขตห้วยขวาง รวม 2.8 หมื่นคน
สำหรับประชาชนที่ยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ได้อีก หากไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนี้ได้ ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการถูกจำกัดสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ในการเลือกตั้งล่วงหน้า มี 7 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งล่วงหน้า เจ้าหน้าที่จะคัดแยกบัตรเลือกตั้งที่สำนักงานไปรษณีย์ ให้เจ้าหน้าลงนามกำกับ ก่อนส่งไปนับรวมที่เขตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 14 พ.ค.
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ม.รามคำแหง แสดงให้เห็นว่าไม่มีบัตรเลือกตั้งหรือสิ่งอื่นใดในหีบเลือกตั้ง
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สำนักงาน กกต. ยังแจ้งเตือนผู้สมัครรับเลือกตั้งและประชาชนให้พึงระวัง ไม่กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ดังนี้
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ประชาชนต่อแถวรอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ช่วงเช้า 7 พ.ค.
นอกจากนี้ สำนักงาน กกต. ยังออกแนวทางปฏิบัติในการหาเสียงเลือกตั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้า
ก่อนหน้านี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงภาพรวมการเปิดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าว่า ทุกหน่วยสามารถลงคะแนนได้ด้วยความเรียบร้อย และขอเน้นย้ำประชาชนไม่ให้ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว, ไม่นำบัตรออกนอกหน่วยเลือกตั้ง และต้องใส่บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบลงในซองบรรจุบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เพิ่มเติมจากการเลือกตั้งปกติ เพราะการเลือกตั้งล่วงหน้าบัตรจะถูกส่งไปคัดแยกที่บริษัทไปรษณีย์ ก่อนจะส่งกลับไปที่เขตเลือกตั้งตามที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
“ขอให้มั่นใจว่าบัตรเลือกตั้งที่ประชาชนลงคะแนนแล้วจะส่งไปถึงหน่วยเลือกตั้ง และนับคะแนนในวันที่ 14 พ.ค.” นายแสวงกล่าว
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียน 92 เรื่อง โดย กทม. ถูกร้องมากที่สุด เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกรณีว่าจะให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด มาตรา 73 (1) ของกฎหมายการเลือกตั้ง
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สีม่วง ใช้เลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และสีเขียว ใช้เลือกผู้สมัตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วต้องหย่อนลงหีบบัตรคนละใบ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ความแตกต่างระหว่างการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากับเลือกตั้งวันจริงคือ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต้องพับบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ก่อนหย่อนลงหีบบัตร
ส่วนการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ จ.อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ ซึ่งนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ลงทะเบียนมากผิดปกติ และมีการเก็บรวบรวมบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น นายแสวงกล่าวว่า สำนักงาน กกต. ตระหนักเรื่องนี้ก่อนจะปรากฏเป็นข่าว ได้มีการสอดส่องดูแลตั้งแต่ต้น และได้มีการตรวจสอบแล้ว แต่ด้วยกระบวนการทำงานจะต้องให้ความคุ้มครองผู้ให้ข่าวหรือให้เบาะแส ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของ กกต. ทั้งนี้ได้กำชับทุกจังหวัดเวลาผู้มาแสดงตนขอใช้สิทธิ ให้เปิดหน้าให้เห็นชัดเจนว่าบัตรประชาชนที่นำมาแสดง คือคนเดียวกับคนที่มาแสดงตนใช้สิทธิหรือไม่
ขณะเดียวกัน มีประชาชน โทร. เข้ามาที่ สายด่วน กกต. 1444 กว่า 1,000 สาย ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามถึงรายชื่อในเขตเลือกตั้ง
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดื่มน้ำอย่างกระหาย ท่ามกลางอากาศร้อนจัดใน กทม.
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
รถฉีดพ่นละอองน้ำ จากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เข้าฉีดน้ำเพื่อคลายร้อนบริเวณสถานที่เลือกตั้งกลาง ม.รามคำแหง หลับมีประชาชนนับสิบรายเป็นลม
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดใน กทม. โดยมีอุณหภูมิสูงราว 40 องศาเซลเซียส ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดอาการเป็นลม
นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผอ.เขตบางกะปิ ในฐานะประธาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 14 กทม. ม.รามคำแหง เปิดเผยในช่วงเที่ยงว่า ปัญหาเรื่องสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งล้มป่วยเป็นลม จำนวน 14 ราย ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้เสริมรถน้ำ มาฉีดละอองน้ำรอบพื้นที่จัดการเลือกตั้งเพื่อบรรเทาอากาศร้อน และเพิ่มเต็นท์พักคอย และพัดลมไอน้ำ ให้ประชาชนได้หลบแดดคลายร้อน
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก