ที่มาของภาพ, Thai News Pix
“ต่อจากนี้ไปก็เป็นหนูเนี่ยล่ะค่ะ ที่ต้องดูแลครอบครัวต่อไป” หลานสาวของเบิร์ด ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีข่าว TNN
นักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี 3 วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พร้อมมารดา คุณปู่คุณย่า วางดอกไม้จันทน์ ก่อนแตะมือที่โลงศพอย่างแผ่วเบา เป็นการอำลา ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ หรือ เบิร์ด พนักงานสถานีข่าว TNN ที่เสียชีวิตในที่ทำงาน จนเกิดการตั้งคำถามว่า “ใครว่าทำงานจนตายไม่มีจริง”
“ช่วงแรก ๆ เขาก็สุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ แต่ก็มีเรื่องของการสูบบุหรี่ กินน้ำอัดลม” ศิรประภา สีดาจันทร์ หลานสาวที่เบิร์ดเอ็นดู และคอยส่งเสียมาตั้งแต่เกิดเพราะเบิร์ดไม่มีภรรยาและลูก กล่าวกับบีบีซีไทย ภายหลังพิธีฌาปนกิจศพที่วัดมหาวงศ์ จ.สมุทรปราการ
“ช่วงปลายปี น้าเบิร์ดพึ่งตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน เป็นโรคความดัน แต่หนูก็คิดว่าสะสมมาเรื่อย ๆ ค่ะ”
เช้าวันที่ 9 ก.พ. เธอและครอบครัว เดินทางเพื่อนำอัฐิของเบิร์ดไปลอยอังคาร เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของบุคลากรสื่อที่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน และกลับดึก (บางวันกลับเช้า) เกือบทุกวัน จากการสังเกตการณ์และเป็นห่วงของคนในครอบครัว
ด้านนายจ้าง คือ สถานีข่าว TNN ช่อง 16 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงเพจ “จอดับ” ที่ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวของเบิร์ดและตั้งคำถามว่า “ใครว่าทำงานจนตายไม่มีจริง” จนทางเพจได้ลบเนื้อหาเกี่ยวกับเบิร์ดออกไปตั้งแต่ 8 ก.พ.
End of เรื่องแนะนำ
สถานีข่าว TNN ระบุว่า เบิร์ดไม่ได้เป็นพนักงานจัดผังรายการเพียงคนเดียว แต่ทำงานร่วมกับทีมของสองช่อง (TNN ช่อง 16 และ True4U) รวม 5 คน โดยทำงานทดแทนหมุนเวียนกันได้ ในกรณีพนักงานลาหยุด หรือไม่ปฏิบัติงานได้
TNN ยังยืนกรานว่า คำกล่าวอ้างของเพจจอดับว่า “ลาหยุด ลาป่วยไปได้แค่สองวัน ก็โดนโทรจิกตามให้รีบกลับมาทำผังรายการ” ไม่เป็นความจริง เพราะทางสถานี “ไม่มีการห้ามลาแต่อย่างใด มีนโยบาย Work from home” ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่โดนตามให้มาทำงาน เป็นเพราะเบิร์ดไม่ได้แจ้งหัวหน้างานเรื่องอาการป่วยหรือขอลาพัก อีกทั้งหัวหน้างานไม่ได้ขอให้เข้ามาทำงานเป็นกรณีพิเศษ
ถึงอย่างนั้น พี่สาวและมารดาของศิรประภาที่ไม่ประสงค์ออกนาม และบีบีซีไทยขอใช้นามสมมติว่า “บี” เล่าว่า เบิร์ดยังเป็นคนที่ทำงานหนักและกลับหลังเที่ยงคืนเกือบทุกวัน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ร่างของเบิร์ดได้รับการฌาปนกิจเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566
“เห็นกลับมาตี 2 ตี 3 ทุกวัน พี่ต้องรอเปิดไฟให้เขา เขาก็มาเปิดฝาชีดูว่าแม่ทำอะไรให้กินบ้าง กินข้าวแล้วก็ไปย่อย สูบบุหรี่สักหน่อย”
และนี่คือการย้อนอดีตของครอบครัวนายศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ ที่การเสียชีวิตของเขาปลุกกระวิพากษ์วิจารณ์ของการทำงานที่หนักเกินไปหรือไม่ ในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และคำถามว่า “คาโรชิ” หรือการทำงานหนักจนตายแบบในญี่ปุ่น กำลังเข้ามาสู่วงการสื่อสารมวลชนไทยหรือไม่
นางวิไล ศรีสวัสดิ์ วัย 75 ปี มารดาของเบิร์ด เข้าร่วมพิธีสวดอภิธรรมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนอำลาบุตรชายที่ส่งเสียครอบครัวมาโดยตลอด ในสายตาของหญิงชรา เบิร์ดเป็นลูกชายที่มีความรับผิดชอบสูง ตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะอยากให้พ่อแม่อยู่สบาย
แม้จะทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ได้หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว แต่เบิร์ดจะพยายามพาพ่อและแม่ไปไหว้พระทำบุญเกือบทุกสัปดาห์ ส่วนการดูแลบิดาที่ป่วยหนัก เบิร์ดทำหน้าที่ลูกได้อย่างเต็มที่
“เบิร์ดให้เงินครอบครัวเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท” นางวิไล ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวอมรินทร์
สำหรับมารดายังพอพูดคุยเรื่องราวของบุตรชายกับสื่อได้บ้าง แต่คนที่เสียใจอย่างมากในเวลานี้ คือ บิดา ที่ป่วยหนัก และเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง โดยในวันที่เบิร์ดเสียชีวิต บิดายังอยู่ที่โรงพยาบาล
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สถานีข่าว TNN เป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรม จนถึงวันฌาปนกิจ "เบิร์ด"
สำหรับนางวิไล เธอไม่ได้ตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเบิร์ด และไม่ถือโทษใคร เพียงอยากให้ลูกชายหลับให้สบาย หลังตรากตรำทำงานหนักมายาวนาน แต่สำหรับ “บี” พี่สาวนั้น ตั้งใจจะเรียกร้องสิทธิของครอบครัวจากการเสียชีวิตของเบิร์ดอย่างเต็มที่
“เพราะมีน้องเพียงคนเดียว” บี บอกกับบีบีซีไทย
“คนตายพูดไม่ได้” นี่คือคำกล่าวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อคำชี้แจงของสถานีข่าว TNN ที่บีบีซีไทยนำมาเผยแพร่ โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองว่า คำชี้แจงของนายจ้างมีลักษณะเป็นการ “กล่าวโทษผู้เสียชีวิต” ในวันที่เขาไม่สามารถลุกขึ้นมาพูดอะไรได้อีก
ในสายตาของพี่สาว ที่อยู่บ้านเดียวกัน, บี เล่าว่า เบิร์ดทำงานหนักจริง และมักจะเลิกงานกลับถึงบ้านเวลาตี 2 ถึงตี 3 ทั้งที่เข้างานตั้งแต่เช้า บางวันเธอยอมรับว่า เห็นน้องชายกลับมาถึงบ้านตอนเช้าก็มี ด้วยเหตุผลว่าต้อง “เคลียร์งานให้เสร็จ”
"หากเธอไม่อยู่สักคน บริษัทมันจะเจ๊งเลยหรือ" เธอเคยถามน้องชายเช่นนี้ ในบทสัมภาษณ์ช่วงหนึ่งกับทีมข่าวอมรินทร์
เบิร์ดตอบกลับหลังเงียบไปสักพักว่า “มันเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบ”
ก่อนเสียชีวิต เบิร์ดป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันสูง
พี่สาวเล่าว่า “เคยพาไปหาหมอ ระหว่างทางน้องชายก็อาเจียนออกมา” แล้วหลังอาการดีขึ้นแต่ไม่หายสนิท ก็ต้องกลับไปทำงานอีก
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ก.พ.
บี ระบุว่าหากย้อนกลับไปได้ อยากจะห้ามน้องชายไม่ให้ทำงานหนักขนาดนี้ เพราะภาพน้องชายที่นอนเสียชีวิตบนโต๊ะทำงานในช่วงสายวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งทีมกู้ภัยที่ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุและส่งภาพให้ดู ทำให้ตัวเอง “เสียใจและสงสารน้องชายมาก”
อีกทั้งภาพโต๊ะทำงานของน้องชาย ทำให้เธอและครอบครัวตระหนักว่า ชีวิตการทำงานของเบิร์ดอยู่หน้า “โต๊ะคอม” เกือบตลอดเวลา จากข้าวกล่อง น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่วางอยู่บนโต๊ะ ส่วนข้าง ๆ นั้น ก็มีถุงใส่ยารักษา
ศิรประภา หลานสาวที่อยู่บ้านเดียวกันให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า “ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นทำงานหนักมาตลอด”
“เรื่องของการทำงานที่เป็นทำงาน 5-6 วัน หนูก็พอเห็นนะ เพราะว่าอยู่บ้านอะนะ ไม่ค่อยได้เจอคุณน้า เพราะคุณน้าไปทำงาน แต่ก็อยู่บ้านเดียวกัน” นักศึกษาวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.ธรรมศาสตร์ กล่าว
เบิร์ดเริ่มทำงานกับสถานีข่าว TNN ตั้งแต่สมัยยังเป็นเคเบิลทีวี เมื่อปี 2545 เป็นปีเดียวกับที่ ศิรประภา เกิด, ด้วยความที่เบิร์ดไม่มีครอบครัว ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก “ตั้งใจหาเงินส่งเสียครอบครัว” จึงเอ็นดู ศิรประภา เหมือนลูก
“ลูกเกิดเขาก็ทำงานแล้ว… เขาไม่มีลูกก็เลยรักเหมือนลูก ทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ไปรับไปส่ง” แม่ของศิรประภา และพี่สาวของเบิร์ด ระบุ
แต่หากถามว่า การทำงานหนักเพื่อครอบครัวและหลานสาว คิดว่าเบิร์ดรู้สึกอย่างไร เธอตอบเพียงว่า “เป็นชีวิตประจำวันเขาไปแล้ว พี่ไม่รู้ว่าเขามีความสุขหรือไม่… แค่นี้ก็หนักแล้ว ไม่รู้จะหนักขนาดไหนอีก”
ศิรประภา ยอมรับว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าหัวหน้างาน “โทรจิก” น้าชาย แม้มีอาการป่วยหรือไม่ เพราะเบิร์ดไม่เคยเล่าให้ฟัง โดยเห็นเพียงมีคนที่ทำงานโทรศัพท์เข้ามาบ้าง
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ผู้บริหาร TNN มาร่วมพิธีฌาปนกิจด้วย
"ส่วนมากเขาเลือกที่จะไม่พูดอะไรเลย เขาเลือกที่จะฟังเฉย ๆ ตอนอยู่ที่ทำงานเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่กับที่บ้านเขามักจะไม่ค่อยพูด และมักไม่ปฏิเสธใครเมื่อครอบครัวร้องขอให้ทำอะไร” นี่คืออุปนิสัยของเบิร์ด ในสายตาของหลานสาว
เมื่อถามว่าแล้วจากนี้ไป ใครจะเป็นผู้รับไม้ต่อดูแลครอบครัว หลังสูญเสียช้างเท้าหน้าไปแล้ว, ศิรประภา ตอบเสียงเศร้าเพียงว่า
“ต่อจากนี้ไปก็เป็นหนูเนี่ยล่ะค่ะ ที่ต้องดูแลครอบครัวต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม แห่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ถึงสิ่งที่ลูกศิษย์ของเธอจำนวนมากได้เผชิญตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คือ การทำงานที่ถูกตั้งความหวังสูงจากผู้บริหารสื่อว่า ต้องมีทักษะที่หลากหลาย ต้องทำงานออนไลน์ให้ได้ และที่สำคัญ ต้อง "เตรียมพร้อม" ทำข่าวสำคัญตลอดเวลา แม้จะอยู่นอกเวลางาน
แต่ความคาดหวังและเงื่อนไขด้านทักษะที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ได้นำมาซึ่งค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่าเลย แต่บุคลากรถูกบีบให้ต้องทำงานต่อไป "ภายใต้ความกลัวว่าจะถูกจิ้มออก" โดยต้องทำงานล่วงเวลา และไม่ได้ค่าล่วงเวลาเพิ่มในหลายองค์กร
"นักข่าว (และพนักงานองค์กรสื่อ) ในยุคปัจจุบัน ทำงานภายใต้แรงกดดันความเครียดสูง ไม่ใช่จากสังคมที่คาดหวังจากเรา แต่จากความกดดันภายใน คือเจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้างาน" รศ. ดร. วิไลวรรณ กล่าวกับบีบีซีไทย
"สถานีข่าว…บอกว่าทำเพื่อสังคม แต่คุณเอาเปรียบพนักงานตัวเอง" อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวมาเป็นอาจารย์ด้านการสื่อสาร กล่าว
ที่มาของภาพ, วารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
"สถานีข่าว…บอกว่าทำเพื่อสังคม แต่คุณเอาเปรียบพนักงานตัวเอง" รศ. ดร. วิไลวรรณ
สภาวะการทำงานภายใต้แรงกดดันสูงเช่นนี้เอง ทำให้บุคลากรสื่อแสดงอาการของโรคซึมเศร้าออกมามากขึ้น คนที่ทนไม่ได้ และรู้สึก "หมดไฟ" ก็ทยอยก้าวออกจากอุตสาหกรรมไป
ซ้ำร้าย ค่าตอบแทนก็ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต "นักข่าวที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ลองไปถามดูสิว่า มีกี่คนที่เงินเดือนถึง 5 หมื่นบาท ลูกศิษย์อาจารย์ที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เงินเดือนอยู่หลัก 3 หมื่นกว่า ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงแค่ไหน"
อาจารย์วารสารศาสตร์ มธ. อยากให้ใช้กรณีของเบิร์ด เป็นหนึ่งในสารตั้งต้น เพื่อให้องค์กรสื่อ และสมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชน "ปฏิรูป" เรื่อง "ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน" ของพนักงาน ทั้งในรูปของเงินเดือน สวัสดิการ และการคุ้มครอง
วันที่ 6 ก.พ. หรือภายหลังการเสียชีวิตของเบิร์ดได้ 2 วัน สถานีข่าว TNN พร้อมด้วยสถานีโทรทัศน์ True4U และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ถึงพนักงานภายในสถานีข่าว TNN ว่า จากการที่นายศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส รับผิดชอบการจัดผังรายการของสถานีข่าว TNN ได้เสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย ขณะปฏิบัติงานนั้น ทางบริษัทฯ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
โดยมีการลงรายละเอียดของการช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้
ทีมข่าวบีบีซีได้เข้าไปสังเกตการณ์งานฌาปนกิจในวันที่ 8 ก.พ. มีผู้เข้าร่วมพิธีราว 100 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสถานีข่าว TNN และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณงานด้วย
ทางครอบครัวศรีสวัสดิ์ยืนยันว่า สถานีข่าวต้นสังกัด “ไม่ได้ทอดทิ้ง” และ “เข้ามาดูแลแล้ว”
ส่วนเรื่องเงินช่วยเหลือพิเศษ 24 เดือนนั้น บี บอกว่า “เขาติดต่อมาแล้ว แต่เรื่องรายละเอียดยังไม่ได้คุยกัน เพราะต้องเข้าไปคุยที่บริษัท”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
การเดินทางครั้งสุดท้ายของ "เบิร์ด"
จากที่ได้พูดคุยกับครอบครัวของเบิร์ด ทุกคนไม่ได้กล่าวโทษนายจ้าง แต่การที่สังคมให้ความสนใจกับการเสียชีวิตของลูกชาย-น้องชาย-น้าชาย พวกเขาอยากให้เรื่องราวของเบิร์ดเป็นอุทาหรณ์สำหรับพนักงาน และองค์กรต่าง ๆ
“ขอให้เบิร์ดเป็นคนสุดท้ายที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก” มารดาของเบิร์ดกล่าว
และพี่สาวของเขา ก็เสริมว่า ”การทำงานหนักทำให้คนเสียชีวิตได้จริง”
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก