วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
เทศกาลหนังยิ่งใหญ่แห่งแรกที่จับจองตารางเวลาในปฏิทินเปิดประเดิมเป็นรายแรกในแต่ละรอบปี ก็คือเทศกาลสำหรับหนังอิสระทั้งที่มีสัญชาติอเมริกันและนานาชาติ Sundance Film Festival ที่จัดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1984 โน่นแล้ว
สำหรับเทศกาลประจำปี 2023 นี้ ก็ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-29 มกราคม โดยจัดคู่ขนานกันทั้งการฉายในโรงจริง ณ Salt Lake รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา และการฉายแบบออนไลน์สำหรับผู้ชมในสหรัฐอเมริกา และสื่อมวลชนจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
ในส่วนของการประกวดประจำปีนี้ ก็เพิ่งจะประกาศผลรางวัลกันไปเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาเวลา Mountain Time ปรากฏว่าในสายประกวดหลักของสหรัฐอเมริกาทั้งส่วน DRAMATIC และ DOCUMENTARY หนังเกี่ยวกับชีวิตคนผิวสีอเมริกันก็คว้ารางวัลใหญ่ไปในทั้งสองสาย เฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมสมัยของหนังกลุ่ม Black Cinema ที่เคยถูกจัดเป็นงานชายขอบ หากในปัจจุบันกลับกลายมาเป็นงานกระแสหลักกลุ่มสำคัญโดยเฉพาะในสายหนังอิสระ ที่ระดับคุณภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าหนังเชิงพาณิชย์ทั้งหลายในฝั่งฮอลลีวู้ดกันเลย
แต่ก่อนจะกล่าวถึงหนังที่คว้ารางวัลใหญ่สายหนังอเมริกันทั้งสองเรื่องนี้ ก็ขอเหลียวไปดูผลงานคว้ารางวัลในสายหนังอิสระนานาชาติกันก่อน เริ่มตั้งแต่หนังคว้ารางวัล Grand Jury Prize สายสารคดีนานาชาติ ซึ่งได้แก่ The Eternal Memory ของผู้กำกับหญิง Maite Alberdi จากชิลี
หนังเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงบั้นปลายขณะเผชิญกับโรคร้ายด้วยอาการอัลไซเมอร์ของ Augusto Góngora อดีตผู้สื่อข่าวรายสำคัญที่เคยติดตามการทำงานของผู้นำเผด็จการ Pinochet อย่างใกล้ชิด กับศรีภรรยาอดีตนักแสดงสาว Paulina Urrutia สุดที่รักของเขาที่แต่งงานอยู่กินกันมากว่า 25 ปี โดยนับตั้งแต่ Augusto ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว Paulina ก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้งสามีของเธอเลย เธอยืนหยัดที่จะอยู่เคียงข้าง Augusto แม้ว่าอาการหลงลืมของเขาจะน่าวิตกเพียงใด
หนังเหมือนจะเล่าเรื่องราวคล้าย ๆ กับ Amour (2012) ของ Michael Haneke แต่ทุกสิ่งที่เห็นล้วนเป็นเหตุการณ์จริง สะท้อนถึงรักแท้อันบริสุทธิ์ที่จะขออยู่เคียงข้างกันแม้ว่าสถานการณ์จะมืดมนยิ่งกว่าฝันร้ายถึงเพียงไหน นับเป็นสารคดีเล็ก ๆ ง่าย ๆ ที่เล่าได้น่าประทับใจ ชวนให้เห็นถึงพลังหนักแน่นภายในที่ชะตากรรมใดก็ไม่อาจจะสั่นคลอนได้ของผู้ที่เคยผ่านพบชีวิต
ข้ามมาที่หนังรางวัล Grand Jury Prize สาย DRAMATIC นานาชาติ ซึ่งคราวนี้เป็นทีของหนังอินดี้จากประเทศอังกฤษเรื่อง Scrapper ของผู้กำกับหญิง Charlotte Regan ที่ชวนให้นึกถึงหนังหลาย ๆ เรื่องของ Ken Loach หรือ Andrea Arnold เพราะเล่าเรื่องราวของชาวอังกฤษชนชั้นกรรมาชีพคล้าย ๆ กัน
Scrapper เล่าเรื่องราวชวนซึ้งของ Georgie เด็กหญิงผิวขาววัย 12 ปีที่แสนจะแก่แดดแก่นแก้ว อาศัยอยู่ ณ ชานกรุงลอนดอนอันซอมซ่อตามลำพังกับมารดา แต่เมื่อบุพการิณีของเธอล้มตายลงด้วยอาการป่วยหนัก Georgie ก็ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการพิทักษ์เด็กนำตัวเธอไปเลี้ยงดู จึงโกหกทุกคนว่าเธออาศัยอยู่กับลุง แล้วหารายได้เลี้ยงตัวเองจากการขโมยจักรยานที่จอดไว้ไปขายกับเพื่อนสนิทวัยเดียวกันที่ชื่อ Ali
สถานการณ์ก็ทำท่าว่าจะไปได้ดีเมื่อไม่มีใครระแวงสงสัย กระทั่งวันหนึ่งมีชายหนุ่มผิวขาวผมสีเงินชื่อ Jason กลับมายังบ้านหลังนี้ ชายที่อ้างตัวว่าเป็นพ่อแท้ ๆ ของ Georgie และสามีของมารดาของเธอที่ตายจากไป ผู้ได้หวนมายังถิ่นเดิมอีกครั้งหลังจากย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน ความสัมพันธ์ระหว่าง Jason กับ Georgie จึงต้องหันมารื้อฟื้นกันใหม่ เมื่อ Georgie ไม่อาจไว้วางใจชายที่เคยทอดทิ้งมารดาและตัวเธอไป แถมยังมีประวัติที่น่าสงสัยว่าไม่น่าใช่ผู้ประกอบสัมมาชีพเหมือนคนอื่น ๆ
หนังได้การแสดงชั้นดีทั้งของน้อง Lola Campbell ที่รับบทเป็น Georgie และ Harris Dickinson ที่เราคงจะคุ้นหน้ากันจากบทนำในหนังรางวัลปาล์มทองคำ Triangle of Sadness (2022) ของผู้กำกับ Ruben Östlund โดย Lola Campbell สามารถสร้างตัวละครเป็น Georgie ที่ดูจะฉลาดเกินวัยได้อย่างสมจริงจนไม่มีวี่แววของความพยายามแก่นแก้วแบบน่ารักอย่างที่เราจะเห็นจนชินตาจากดาราเด็กฝั่งอเมริกัน
ที่สำคัญคือ Georgie แบกรับความบอบช้ำอ่อนไหวให้เห็นอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าเธอจะพยายามทำตัวแข็งแกร่งเพียงใด ดูแล้วชวนให้เห็นใจมากกว่าจะหมั่นไส้ในความเก่งฉกาจเกินตัวของเธอ ส่วน Harris Dickinson ก็ระบายสีสันให้ตัวละคร Jason ได้จนคนดูมองไม่ออกเลยว่าลึก ๆ แล้วเขาเป็นคนเช่นไร และการกลับมาครั้งนี้จะมีเจตนาดีอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ หรือเขามีวาระลับซ่อนเร้นใดภายใต้ใบหน้าที่ทำทีเป็นคนใจดีเช่นนั้น
หนังแสดงภาพความรักระหว่างพ่อและลูกสาวที่ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถสร้างกระแสได้ถล่มทลายแบบเดียวกับเรื่อง Aftersun (2022) ของ Charlotte Wells ได้หรือไม่
ย้ายกลับมาที่หนังประกวดสายอเมริกัน ด้านฝั่งงานสารคดี เรื่องที่ได้รับรางวัล Grand Jury Prize ไปก็คือ Going to Mars: The Nikki Giovanni Project ของสองผู้กำกับ Joe Brewster และ Michèle Stephenson ซึ่งชื่อหนังอาจจะฟังดูเป็นสารคดีวิทยาศาสตร์ท่องอวกาศอะไรเทือกนั้น แต่จริง ๆ แล้วมันคือสารคดีที่ถ่ายทอดภาพชีวิตความคิดและจินตนาการของกวีหญิงผิวสีชาวอเมริกัน Nikki Giovanni ผู้เคยประพันธ์บทกวี Quilting the Black-Eyed Pea (We’re Going to Mars) อันเป็นที่มาของชื่อสารคดีเรื่องนี้นั่นเอง
สารคดีเล่าชีวิตของ Nikki Giovanni เรื่องนี้ เรียกได้ว่ารวมเอาเรื่องราวชีวิตของคนชายขอบตอบโจทย์ความหลากหลายด้านต่าง ๆ ของผู้คนในสังคมอันเป็น issue ใหญ่ในปัจจุบันได้อย่างถ้วนครบ เนื่องจากกวิณีผู้นี้เป็นทั้งผู้สูงวัย เป็นสุภาพสตรี เป็นคนผิวสี และที่สำคัญคือเธอเป็นหญิงเลสเบี้ยนสมาชิกกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีคู่รักผู้อยู่ด้วยกันมายาวนานอีกด้วย
ซึ่งหนังก็เปิดด้วยคำคมอันอหังการ กับข้อความที่ว่า “มนุษยชาติจะเข้าใจการเดินทางไปดาวอังคารได้ผ่านความคิดและจินตนาการของคนผิวดำเท่านั้น” ซึ่งเชื่อมโยงกับบทกวี Quilting the Black-Eyed Pea (We’re Going to Mars) ของ Nikki Giovanni ที่ประกาศกล้าว่า เราไม่ต้องอาศัยยานอวกาศล้ำสมัยใด ๆ ในการเดินทางไปยังดวงดาวอีกดวง
ลำพังเพียงจินตนาการอันยิ่งใหญ่และความสามารถของมนุษย์ไม่ว่าจะมีผิวสีไหน ก็สามารถลัดฟ้าเหินเวหาไปได้ผ่านคำกวี จึงต้องขอยอมว่าสารคดีเรื่องนี้ช่างมาได้ถูกที่ถูกเวลา และ Nikki Giovannai ก็น่าจะเป็นบุคคลที่ประกาศกล้าได้ว่ากวีสตรีอย่างเธอจะไม่ยอมเป็นชนชั้นสองเป็นเบี้ยล่างรองบ่อนใคร ๆ อีกต่อไป จนสามารถชนะใจผู้อ่านสีผิวเดียวกับเธอได้อย่างล้นหลามตลอดชีวิตการทำงาน
ด้านหนังกลุ่ม DRAMATIC ฝั่งอเมริกันที่ได้รับรางวัล Grand Jury Prize ไปก็ยังเป็นหนังของผู้กำกับหญิงผิวสี A.V. Rockwell เรื่อง A Thousand and One ที่เล่าเรื่องราวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผิวสีเช่นกันนาม Inez กับบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอนาม Terry ตั้งแต่คราวที่ Inez พ้นคุกได้รับอิสรภาพและติดตามไปลักพาตัวบุตรชายวัยหกขวบของเธอมาจากสถานสงเคราะห์เพื่อจะได้อยู่ด้วยกันในยุค 1990s ไล่มาถึงเวลาปัจจุบันเมื่อ Terry กลายเป็นหนุ่มร่างใหญ่และ Inez ได้แต่งงานใหม่ ก่อนจะคลายปริศนาอันน่าตกใจของตัวละครฝ่ายผู้ใหญ่ที่ทำให้บุตรชายอย่าง Terry รับความจริงไม่ได้เอาเลย
หนังเรื่องนี้นับเป็นงาน Black Cinema อย่างเต็มตัว เพราะทั้งตัวละครหลักและย่านที่ตัวละครอยู่อาศัยล้วนแล้วแต่เป็นถิ่นคนดำในมหานครนิวยอร์ก แต่ส่วนที่น่าสนใจใน A Thousand and One ก็คือมันเป็นงานที่สะท้อนภาพชีวิตคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาผ่านภาวะที่แสนจะอ่อนไหวเปราะบางสวนทางกับหนัง Black Cinema ส่วนใหญ่ที่มักจะให้ภาพความเข้มแข็งไม่ยอมใครของเหล่าคนดำ
ตัวละครทุกรายโดยเฉพาะ Inez ล้วนมีบาดแผลเรื้อรังที่ยากจะ move on ด้วยอุปสรรคที่ชวนให้ต้องทอดถอนหายใจหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต จนไม่ว่าจะหันไปมองทางไหน เราก็จะไม่เห็นตัวละครที่มีความเป็นวีรบุรุษเอาเลย
นับเป็นน้ำเสียงแปลกใหม่ของวงการ Black Cinema ที่จะมาสาวไส้โพนทะนาถึงความอ่อนแอของตัวละครชนผิวสีที่เราไม่ใคร่ได้เห็นกันสักเท่าไหร่ หากมันคือความเป็นไปของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับเรื่องทุกข์ยากหนักอกหนักใจไม่ว่าจะมีผิวสีไหน ตราบใดที่ยังไม่สามารถสลัดกิเลสตัณหานานาประการออกไปได้ และต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารที่ไม่อาจหลุดพ้น!
อย่างไรก็ดี หนังที่เรียกได้ว่าสร้าง drama ได้มากที่สุดในเทศกาลกลับไม่ใช่หนังประกวดสาย DRAMATIC เรื่องใด ๆ หากกลายเป็นหนังเขย่าขวัญสาย MIDNIGHT ที่ชื่อ Infinity Pool ของผู้กำกับ Brandon Cronenberg บุตรชายของ David Cronenberg จากแคนาดา เนื่องจากเนื้อหาของหนังแรงเสียจนได้รับ rating NC-17 หรือห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีดู ระหว่างออกฉายในเทศกาล และผู้กำกับจำเป็นต้องตัดต่อเนื้อหาส่วนที่ล่อแหลมออกไปเพื่อให้ได้ rating R หรือ Restricted ในการออกฉายเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา
เรื่องราวของ Infinity Pool ว่าด้วยการเดินทางไปพักผ่อนยังเกาะห่างไกลเพื่อหาแรงบันดาลใจของ James นักเขียนหนุ่มที่เกิดอาการความคิดตันหรือ writer’s block ในการเขียนหนังสือเล่มใหม่ กับ Em ภรรยาสาวสวยและรวยมากของเขา ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้น James ก็ได้พบกับ Gabby แฟนหนังสือเล่มแรกของเขาที่จำ James ได้ทันที ที่มาพักผ่อนยังเกาะแห่งนั้นด้วยกันกับ Al แฟนหนุ่มของเธอ
เมื่อ Gabby ชวน James และ Em ไปร่วมรับประทานอาหารค่ำ นำไปสู่เหตุการณ์ที่ทำให้ James ขับรถชนคนด้วยอาการมึนเมา เขาจึงถูกทางการจับไปลงโทษ ณ เรือนจำลับแลที่ตีแผ่ทั้งโลกมืดและสมาคมลับที่ข้องเกี่ยวกับการมีเซ็กซ์หมู่แบบ orgy และวิธีการทรมานในรูปแบบพิสดาร
ถึงแม้เนื้อหาของ Infinity Pool จะแลดูอลังการจนน่าตื่นเต้นถึงเพียงไหน แต่ในเชิงของการเล่า ผู้กำกับ Brandon Cronenberg กลับใช้จังหวะจะโคนที่ออกจะเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ ไม่ได้เร่งเร้าโครมครามอะไร แถมงาน production ที่ออกจะดูดีมีคลาสอย่างมากมายก็ทำให้ฉากต่าง ๆ เหมือนผ่านการฆ่าเชื้อ sterilized ส่วนที่สยองชวนแหวะทั้งหลายจึงไม่ชวนให้รู้สึกร่วมใด ๆ ค่าที่มันดูประดิษฐ์และปลอดเชื้อเสียเหลือเกิน
แต่ฉากที่มีปัญหาจนน่าจะทำให้หนังได้รับ NC-17 ในการออกฉายครั้งแรกก็คือฉากเซ็กซ์หมู่ซึ่งก็มาเพียงช่วงสั้น ๆ และฉากที่ James ถูกถลกกางเกงสำเร็จความใคร่จนน้ำกามไหลหลั่งแบบจริง ๆ จากทางด้านหลัง ซึ่งก็จับภาพ close-up เสียจนชวนให้รู้สึกว่าแอบใช้นักแสดงแทน
ซึ่งผู้กำกับก็แก้ขัดในฉบับเรท R ด้วยการเสริมฉากจากช่วงตอนอื่น ๆ แทรกทับลงไป เพื่อให้ยังรักษาความยาวเดิมและ score ดนตรีที่อุตส่าห์แต่งมาอย่างดี แถมยังออกมาบอกว่าเขาเองก็ happy กับหนังทั้งสองฉบับ เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับอะไรมากนักเพื่อให้หนังได้รับเรท R!
Related Stories
พฤศจิกายน 6, 2024