โดย PPTV Online
เผยแพร่
บทเรียนครั้งสำคัญของตุรกี เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรียเมื่อวันที่ 6 ก.พ. นอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 20,000 รายแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่ออาคารโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 6,000 แห่ง แม้แต่อาคารที่เพิ่งสร้างใหม่เอง ก็พังยับเยินเช่นกัน
เรื่องนี้นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตุรกีในฐานะประเทศที่รู้ตัวดีว่า มีโอกาสเผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ทำไมจึงไม่มีการสร้างอาคารที่พร้อมจะรองรับหรือทนต่อแผ่นดินไหว อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นทำ แต่ก็มีข้อโต้แย้งเช่นกันว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาดที่รุนแรงมาก คือ 7.8 แมกนิจูด ยากที่อาคารส่วนใหญ่จะทานทนไหว
เหยื่อแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย พุ่ง 23,700 ศพ จนท.หลายประเทศ ระดมกำลังค้นหาผู้รอดชีวิต
ความสวยงามท่ามกลางหายนะ ช่วยทุกชีวิต ไม่ว่าคนหรือแมว
เผยภาพดาวเทียมเมืองในตุรกี "ก่อน-หลัง" แผ่นดินไหว ตายทะลุ 16,000 คน
ศ.โอคาน ทุยซูซ วิศวกรธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคอิสตันบูล บอกว่า ทั้งความรุนแรงของแผ่นดินไหว และการสร้างอาคารที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับมือแผ่นดินไหว ล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความหายนะที่ทุกคนได้เห็น
“เราเผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ … แผ่นดินไหวครั้งแรก (7.8 แมกนิจูด) เทียบเท่ากับการปลดปล่อยพลังงานจากการระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 5 ล้านตัน แผ่นดินไหวครั้งที่สองเทียบเท่ากับระเบิด 3.5 ล้านตัน อาคารส่วนใหญ่ยากจะต้านทานความรุนแรงดังกล่าว” ทุยซุซบอก
ด้าน ซินัน เติร์กกัน วิศวกรโยธาและประธานสมาคมส่วนเสริมอาคารป้องกันแผ่นดินไหวของตุรกี บอกว่า แม้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจะมีมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายต่ออาคารในระดับนี้ได้
“ตามการประมาณการของทางการ อาคาร 6,000-7,000 แห่งพังทลายลง แต่ไม่ว่าแผ่นดินไหวจะรุนแรงเพียงใด หากอาคารทั้งหมดได้มาตรฐาน มันจะไม่เกิดความเสียหายมากขนาดนี้” เติร์กกันกล่าว
อาคารในตุรกีที่พังทลายลงมา ส่วนใหญ่สร้างขึ้นก่อนปี 1999 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอิซมิต ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ในภูมิภาคมาร์มาราตะวันตก คร่าชีวิตผู้คนไป 17,500 คน ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหวของตุรกี และในปี 2008 ได้เริ่มดำเนินโครงการเปลี่ยนแปลงเมืองเพื่อเตรียมตุรกีให้พร้อมสำหรับแผ่นดินไหวครั้งต่อ ๆ ไป
แต่มันฟังดูดีเพียงในหน้ากระดาษเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง อาคาที่สร้างขึ้นใหม่หลังมีการออกมาตรฐานดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถรับมือแผ่นดินไหวได้อยู่ดี
เติร์กกันกล่าวว่า “บนกระดาษ มาตรฐานการออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหวของตุรกีเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งจริง ๆ แล้วดีกว่าส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ … อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ มันเป็นคนละเรื่องเลย”
นั่นเป็นเพราะมาตรฐานการก่อสร้างฉบับใหม่นี้ เป็นเพียง “ข้อเสนอ” เท่านั้น ไม่ใช่ “ข้อบังคับ“ ที่ผู้สร้างอาคารทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น หากผู้สร้างหรือเจ้าของอาคารเดิมไม่ต้องการรื้อถอนทรัพย์สินเก่าและสร้างใหม่ตามมาตรฐานล่าสุด อาคารก็จะยังคงเป็นแบบเดิมอยู่อย่างนั้นเอง
นอกจากนี้ หลายคนยังไม่ต้องการใช้เงินไปกับการสร้างงานใหม่หรือการเสริมความแข็งแกร่งอาคาร ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กว่า 20 ปีหลังจากแผ่นดินไหวที่มาร์มารา ตุรกีก็ยังคงเต็มไปด้วยอาคารที่สร้างโดยใช้วัสดุคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและเทคนิคการก่อสร้างชวนสลด ซึ่งพังทลายลงทันทีเมื่อเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรง
“สิ่งนี้ทำให้ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งในฐานะวิศวกร … หากเราจัดการกับทุกคนได้ เราก็สามารถเสริมความแข็งแรงหรือสร้างอาคารตามมาตรฐานใหม่ทั้งหมดได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราสามารถช่วยอาคารอย่างน้อย 5,000 หลังที่เราสูญเสียไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ. จากการถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ได้ เราสามารถช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้” เติร์กกันกล่าว
ด้านทุยซูซเสริมว่า “เป็นเวลาหลายปีที่เราจัดการประชุม เขียนรายงานและส่งไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เราบอกพวกเขาว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะกระทบพื้นที่อย่างฮาไทและกาซีอันเต็ปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
เขาบอกว่า “ไม่มีอาคารใดที่สร้างอยู่บนแนวรอยเลื่อนโดยตรงจะสามารถรอดจากแผ่นดินไหวได้ มันจะพังทลาย เราควรสร้างแผนที่รอยเลื่อนที่ถูกต้องสำหรับทั้งประเทศ และกำหนดพื้นที่บนรอยเลื่อนให้เป็นโซนห้ามก่อสร้าง แต่ไม่มีใครฟัง”
ทุยซูซกล่าวอีกว่า “อาคารที่ค่อนข้างใหม่บางแห่งก็พังทลายลงในแผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งอาจหมายความว่าผู้รับเหมาใช้ทางลัด พยายามประหยัดโดยใช้วัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเจ้าหน้าที่ล้มเหลวในการตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนอนุมัติโครงการก่อสร้าง”
โรงเรียนหลายแห่ง อาคารบริหาร โรงพยาบาล และแม้แต่สำนักงานใหญ่ของหน่วยงานจัดการภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินของตุรกี (AFAD) ในเมืองฮาไทก็พังถล่มเช่นกัน
เติร์กกันอธิบายว่า “ตามข้อบังคับของรัฐ อาคารสาธารณะควรจะแข็งแรงกว่าของเอกชน … เมื่อคุณสร้างโรงพยาบาล ที่ทำการไปรษณีย์ หรืออาคารสาธารณะอื่น ๆ คุณจะต้องใช้คอนกรีตมากขึ้น ใช้เหล็กมากขึ้น ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารเหล่านั้นจะรอดพ้นจากแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ และเพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนต่อไปได้ในช่วงเวลาวิกฤต”
ทุยซูซเห็นด้วย “เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่งที่อาคารสาธารณะ โรงไฟฟ้า หรือสนามบินจะพังทลายจากแผ่นดินไหว … มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเพื่อป้องกันสิ่งนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐในการบังคับใช้กฎระเบียบข้อบังคับ แม้แต่ในการก่อสร้างอาคารที่รัฐควบคุมได้อย่างสมบูรณ์”
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้คนนับล้านอาศัยอยู่ในอาคารสูงที่มีประชากรหนาแน่น ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศซึ่งเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กฎข้อบังคับเกี่ยวกับอาคารสามารถช่วยผู้คนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติได้อย่างไร
ที่ญี่ปุ่น ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งานของอาคารและพิจารณาพื้นที่ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากน้อยแต่ไหน
อาคารรองรับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเสริมความแข็งแรงอย่างง่าย ไปจนถึงตัวลดการสั่นสะเทือนทั่วทั้งอาคาร ไปจนถึงการวางโครงสร้างทั้งหมดไว้บนโช้กอัปขนาดยักษ์เพื่อป้องกันมันจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน
ตุรกีจะได้รับบทเรียนไปมากน้อยแค่ไหนจากเหตุแผ่นดินไหวที่ได้ชื่อว่ารุนแรงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศในครั้งนี้ คงต้องดูกันว่า ทางการตุรกีจะเอาจริงเอาจังเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างอาคารหรือไม่ หากไม่ ก็คงได้แต่บอกว่า ความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นนี้ คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในตุรกี
เรียบเรียงจาก Al Jazeera / BBC
ภาพจาก AFP
PPTVHD36.COM ใช้คุกกี้ เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
© สงวนลิขสิทธิ์ 2564 บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด
เกี่ยวกับ PPTVHD36 TERM CONDITION PRIVACY POLICY PRIVACY POLICY PARTNER MOBILE APP