วันศุกร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 มกราคม 2566 นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมแถลงข่าวมาตรการรับมือ ฝุ่น PM2.5 สูงในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง
นายพรพรหม กล่าวว่า กทม. ร่วมกับกรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กทม. แบ่งแผนออกเป็น 3 ส่วน คือ การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา PM 2.5 การเปิด Traffy Fondue เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน และการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาจากต้นตอของ ฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วยข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ร่วมกันนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 66 โดยปัญหาที่พบว่าในวันที่ 24 ม.ค. 66 เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ในวันนี้ 25 ม.ค. 66 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า
แต่ค่า PM 2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. 66 และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 66 ซึ่งปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนเมษายน โดยทางด้านอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM 2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM 2.5 มากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์
ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึง 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ปัจจัยแรกได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่าเพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM 2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. 66 ถึง 1 ก.พ. 66 สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค. 66 ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือปัจจัยที่สอง แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันควบคุมได้ต่อมา นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของกทม.ว่า หากค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่งกทม.จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์ และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ
ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซด์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น
ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น
ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง
ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work From Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมากรวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ หลังจากที่ กทม.ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่น PM 2.5 เผื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯ ให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 31 ม.ค.- 1 ก.พ.นี้ จะมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยปีนี้สภาพฝุ่น PM 2.5 หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศ ในกรุงเทพฯ ต่ำลง อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีก แต่ค่าฝุ่นปีนี้จะหนักเป็นช่วงระยะไม่ได้ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยหลักของฝุ่นก็ยังมาจาก ควันดำของรถยนต์ การปล่อยควันเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ และร้านอาหารปิ้งย่าง ซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯได้เฝ้าระวังและประมวลค่าฝุ่นเป็นรอบ 24 ชม.นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึงผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และโรคตาอักเสบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคม 65 โดยผู้ที่เจ็บป่วยจากผลกระทบทางด้านอากาศประมาณ 110,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (เดือนมกราคม 66) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000 คนทั่วประเทศ
ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากการสำรวจการป้องกันตัวเองผ่าน 4Health_PM2.5 พบว่า ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีอาการน้อย เช่น เจ็บตา ตาแดง คันคอ น้ำมูกไหล ในส่วนของผู้ที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย แน่นหน้าอก แต่ยังไม่พบมากนัก อย่างไรก็ตามทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชนมาตลอดว่า ค่าฝุ่นระดับไหน ควรดูแลตัวเองอย่างไร
รวมถึงขอความร่วมมือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดงควรอยู่ที่บ้านจะปลอดภัยกว่า ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทำงาน ก็อยากให้ work from home เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน และควรใส่หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยซ้อน 2 ชั้น
นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมรักษาประจำตัวไว้อยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นสามารถไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสายด่วน 1478 หรือ แอปพลิเคชันของกระทรวงสาธารณสุขอย่าง 4Health_PM2.5 สามารถเข้ามาประเมินระดับความรุนแรงของอาการจากฝุ่น PM2.5 ก่อนได้ ซึ่งจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนตามระดับอาการ ถ้าหากอาการรุนแรงจะมี link ไปที่คลินิกมลพิษออนไลน์
ทั้งนี้ นายแพทย์เอกชัย ได้ทิ้งท้ายเน้นย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดง ช่วยกันดูแลเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน แนะนำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำอย่างไรให้ปลอดฝุ่น รวมไปถึงห้องเรียนให้ปลอดฝุ่น เช่น ปิดหน้าต่างให้มิดชิด มีระบบพัดลมระบายอากาศ มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องคอยทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศเป็นประจำทุกเดือน และที่สำคัญอยากให้ทุกคนคอยเช็คสภาพอากาศก่อนออกนอกบ้านตามช่องทางต่างๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
นายพรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ กทม.ได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ.นี้ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพจะเป็นสีแดง
ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน Work From Home ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม Work From Home กับ กทม. รวมถึงได้แจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัยหากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า
รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมอีกว่า ปีนี้กทม.ได้ขยายคลินิกอนามัย เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์ได้ คือ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลกลางคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลตากสินคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาล เจริญกรุงประชารักษ์ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลสิรินธร ประชาชนสามารถ เข้าใช้บริการได้ทันที
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจรักษาได้ทันที พร้อมย้ำว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นกทม. กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและปีนี้เป็นความร่วมมือที่จะประสานงานการส่งต่อข้อมูลเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย