
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สังคมไทยตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง หลังผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า "บัตรเลือกตั้งกว่า 300,000 ซอง อ่านไม่ออก" จนเกิดความวิตกว่า ไปรษณีย์จะส่งบัตรเลือกตั้งไม่ถึงเขตเลือกตั้ง เพื่อเปิดนับคะแนนหลังปิดหีบ 17.00 น. วันที่ 14 พ.ค. นี้
ประเด็นนี้ เริ่มมาจาก ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส โพสต์บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว (12 พ.ค.) รายงานว่า "บัตรเลือกตั้ง กว่า 300,000 ซอง อ่านไม่ออก" และเป็นบัตร ที่ "ประชาชนใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าแล้ว"
นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับภัทราพร ระบุว่า พบปัญหาลายมือจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งที่ใช้สิทธิแล้ว อ่านไม่ออกกว่า 3 แสนซอง ซึ่งเป็นลายมือที่กรรรมการประจำหน่วยต้องเขียนรายละเอียด จังหวัด/เขต และ รหัสเลือกตั้ง 5 หลัก แต่ไม่ชัดเจนและลายมืออ่านไม่ออก
ดังนั้น จึงต้องส่งให้ กกต. วินิจฉัย เพื่อส่งกลับมาให้ ไปรษณีย์ไทย คัดแยกใหม่อีกรอบ
เมื่อประเด็นนี้กลายเป็นพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการทำงานที่บกพร่องของ กกต. ทำให้ต่อมาไม่นาน กกต. แถลงการณ์ชี้แจงในวันเดียวกันว่า ข้อมูลตามที่ปรากฎตามคลิปวิดีโอว่า มีซองใส่บัตรเลือกตั้งกว่า 3 แสนซอง ไม่สามารถอ่านข้อความตามที่ปรากฎอยู่บนซองได้ "ข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จ"
End of เรื่องแนะนำ
กกต. ชี้แจงว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ไม่สามารถอ่านลายมือของ กปน. มีจำนวนเพียง 10,000 ซอง ไม่ใช่ 300,000 ซองเศษ ตามที่มีการรายงาน
เหตุผลที่เขียนอ่านไม่ออก เป็นผลจาก กปน. ที่ปฏิบัติงานในที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนหลายคน โดยทำหน้าที่เป็นผู้เขียนรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้ง ทำให้ลายมือที่ปรากฎบนซองใส่บัตรเลือกตั้งมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถอ่านรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้งได้โดยง่าย
ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ กกต. ที่ปฏิบัติงาน ณ ไปรษณีย์ไทย ได้ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้งแล้ว ทำให้สามารถคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งไปยังจุดหมายปลายทางได้ทุกซอง จึงไม่มีซองใส่บัตรเลือกตั้งค้างการจัดส่งและสามารถจัดส่งไปยังจุดหมายปลายทาง
อย่างไรก็ดี สังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่า บัตรเลือกตั้ง 10,000 ซองที่ปรากฎปัญหาอ่านไม่ออก ก็ยังถือเป็นจำนวนที่มากอยู่ และไม่ควรมีการผิดพลาดเกิดขึ้น
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ก่อนหน้านี้ แฮชแท็ก “กกต. มีไว้ทำไม” และ “กกต. ต้องติดคุก” ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ไทยในวันเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด 7 พ.ค. หลังพบความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการกรอกรหัสจังหวัด และรหัสเขตเลือกตั้งหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด
ข้อมูลจากสำนักงาน กกต. ระบุว่า มีประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 2,350,969 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,287,045 คน
ต่อมา 8 พ.ค. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอยู่ที่ 91.83% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ต้องขอบคุณผู้มาใช้สิทธิที่มาด้วยแรงศรัทธาประชาธิปไตย ซึ่ง “สำนักงาน กกต. สัญญาว่าจะรักษาทุกเสียงที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้”
ส่วนกรรมการประจำหน่วย และอนุกรรมการประจำเขต ซึ่งการทำงานอาจมีการผิดพลาดบ้าง แต่ขอบคุณที่อดทนทั้งต่อสภาพอากาศ และแรงเสียดทานทางการเมือง ทำงานรวมกว่า 16 ชม. รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และ กกต. ซึ่งมีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งการให้ ผอ.กกต. ทุกจังหวัด รายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องดีที่สิ่งที่เราทำอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ แต่ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สามารถเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปได้
เลขาธิการ กกต. ย้ำอีกครั้งว่า ในวันเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นอีก และคาดว่าการบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรทำงานมากขึ้น
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ ม.รามคำแหง ท่ามกลางอุณหภูมิสูงราว 40 องศาเซลเซียส
ในการเลือกตั้ง 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรสีเขียว เพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ และบัตรสีม่วง เพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งต่างคน ต่างเขต จะมีเบอร์ต่างกัน แม้มาจากพรรคเดียวกันก็ตาม
7 พ.ค. อาสาสมัครภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งราว 40 คน กระจายกันไปสังเกตการณ์การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของประชาชน และการทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ตามสถานที่เลือกตั้งกลาง ก่อนสรุปข้อมูลความผิดพลาดบกพร่อง แล้วเปิดแถลงข่าวในวันนี้ (8 พ.ค.)
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีหลายระดับ บางเรื่องเป็นสิ่งที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น และบางเรื่องเป็นปัญหาจาก “ระบบการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ มันอ่อนแอเกินไป”
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ทางสถานีทัศน์ช่อง 31 ผู้จัดการไอลอว์สรุปปัญหาหลักที่พบในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปัญหา ดังนี้
หนึ่ง ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับไม่มีชื่อของตน ซึ่งอาจเป็นปัญหาระบบ
สอง ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับมีคนมาลงคะแนนเสียงไปแล้ว เพราะ “ถูกสวมสิทธิเลือกตั้งแล้ว”
สาม เจ้าหน้าที่ติดใบประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ครบถ้วนทุกคน ทุกพรรค โดยพบปัญหานี้ในสถานที่เลือกตั้งกลางหลายพื้นที่ อาทิ เขตหนองแขม กทม., เชียงใหม่, กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สี่ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และแต่ละหน่วยเลือกตั้งก็ปฏิบัติไม่เหมือน เช่น การบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมาลงเอกสาร (ส.ส. 5/5) และต้องติดประกาศไว้ที่หน้าหน่วยก่อนเปิดให้ลงคะแนนเสียง แต่บางหน่วยก็ไม่ติดประกาศ ทำให้ถูกทักท้วง หรือบางหน่วยติดประกาศ แต่เขียนผิดช่อง และเมื่อการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ลงเอกสาร ส.ส. 5/7 แต่เจ้าหน้าบางส่วนกลับปิดหีบเลือกตั้ง ปิดผนึก และลงชื่อกำกับเลย ซึ่งจริง ๆ ต้องแยกบัตรเลือกตั้งให้ไปรษณีย์ก่อน
ห้า เจ้าหน้าที่กรอกรหัสหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งผิด โดยเขียนรหัสเขตเลือกตั้งผิด หรือกรอกรหัสจังหวัดผิด หรือไม่ตรงกับตามภูมิลำเนาอันเป็นเขตเลือกตั้งจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็น “เรื่องใหญ่ที่สุด และกระทบต่อสิทธิผู้เลือกตั้งโดยตรง” และ “ที่น่าเสียใจคือ เมื่อผู้มีสิทธิทักท้วง แต่กรรมการประจำหน่วยกลับยืนยันว่าทำถูกแล้ว จนตอนเย็น กกต. ถึงออกมายอมรับว่าผิดจริง ๆ”
สำหรับสถานที่เลือกตั้งกลางที่พบปัญหานี้ อาทิ เขตบางเขน กทม., นนทบุรี, ชลบุรี และเชียงใหม่
นายยิ่งชีพ หนึ่งในอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง อธิบายว่า ความผิดพลาดมีหลายระดับและซับซ้อน เช่น กรอกรหัสผิด แต่ชื่อเขตเลือกตั้งถูก หรือกรอกชื่อเขตผิด แต่กรอกรหัสถูก อย่างนี้บัตรเลือกตั้งจะยังไปถึงและถูกนับ แต่ถ้ากรอกผิดทั้งคู่ หรือถ้าผิดแล้ว แต่ยังมีตัวตนสิ่งนั้นอยู่ อันนี้อธิบายไม่ได้ว่าสุดท้ายบัตรจะยังไปถึงหรือไม่
ตัวอย่างเช่น กรอก จ.บุรีรัมย์ เขต 20 ซึ่งจังหวัดนี้มีไม่ถึงเขตเลือกตั้งที่ 20 แต่รหัสถูก มันก็ไปถึง ไปเข้าระบบไปรษณีย์ แต่ถ้ากรอก จ.บุรีรัมย์ เขต 2 รหัสถูก แต่เป็นรหัสของเขตอื่น ก็ไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะนำไปส่งที่ไหน
“บัตรเหล่านี้เมื่อไปถึงเขตนั้นที่ไม่ใช่เขตจริง ๆ มันก็จะถูกนับ แต่คะแนนที่กาไป มันจะไปให้คนอื่น และสุดท้ายบัตรนั้นมันจะเขย่ง เพราะมีจำนวนบัตรมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และบัตรในเขตจริง บัตรหาย ไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาจะมีอีกเยอะมาก” นายยิ่งชีพกล่าว
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ท่ามกลางข้อผิดพลาดที่พบ กปน. กลับส่งบัตรเลือกตั้งทั้งหมดให้ไปรษณีย์เลย แทนที่จะรอตรวจสอบก่อน ซึ่งผู้จัดการไอลอว์มองว่า กรรมการรายหน่วยอาจไม่รู้ตัวว่าผิด แต่ กกต. กลางออกมายอมรับประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 7 พ.ค. ก็น่าจะสั่งการทุกหน่วยว่าอย่าเพิ่งส่งบัตรเลือกตั้ง และให้มีการตรวจสอบก่อน
อย่างไรก็ตาม นายยิ่งชีพ “ยังขอเอนไปในทางว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดกระจัดกระจาย และยังไม่มีข้อมูลว่าคะแนนที่ผิด จะไปโผล่อีกพรรคหนึ่งไหม… แต่เป็นความบกพร่องจากความไม่รู้ จนเกินจะให้อภัยได้”
เขาสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เขียนซอง ไม่มีความรู้ความเข้าใจระบบเลือกตั้ง ไม่เข้าใจว่าเขตเลือกตั้งมีรหัส จึงเขียนรหัสไปรษณีย์ลงไป ซึ่งสะท้อนว่า ระบบทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ มันอ่อนแอเกินไป
“พอเรียนรู้ปัญหาแล้ว ก็ทั้งเศร้า ทั้งโกรธ ทำไมเราทำดีกว่านี้ไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้ยากเลย แล้วพอทำไม่ดี คะแนนมันเสียจริง ๆ คนที่ลงคะแนนไป สุดท้ายไม่รู้ว่าเขาจะถูกนับหรือไม่ถูกนับอย่างไร และผลสุดท้าย ถ้ามันออกมาสูสีจริง ๆ เราจะบอกได้ไหมว่าใครควรจะชนะการเลือกตั้ง” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว
นอกจากข้อมูลจากอาสาสมัครภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคประชาชน นักการเมือง ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนหลายสำนักยังออกมาตั้งข้อสังเกต/รายงานข่าว เรื่องความผิดพลาดบกพร่องในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าอีกหลายกรณี อาทิ
ต่อมา เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า “เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่” ในการกรอกรหัสหน่วยเลือกตั้ง และกรอกรหัสไปรษณีย์แทนรหัสจังหวัด “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบหลังเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 100 กว่าคน เจ้าหน้าที่จึงทำการเปลี่ยนหีบบัตร” และยืนยันว่าจะไม่กระทบการใช้สิทธิของประชาชน และสามารถส่งบัตรได้ตรงตามเขตแน่นอน
ที่มาของภาพ, สำนักงาน กกต.
แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งล่วงหน้า จะไม่เกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 พ.ค. เพราะเป็นการเลือกตั้งตามหน่วย ไม่มีการใส่ซองส่งไปรษณีย์แล้ว
ต่อมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า ได้รับรายงานเรื่องนี้ และมีการแก้ไขแล้ว ซึ่งบางกรณี เกิดจากคนไปฉีกทำลาย และได้แจ้งความกับคนทำแล้ว
เฉพาะปัญหาเรื่องการเขียนรหัสเขตเลือกตั้ง และรหัสจังหวัด เลขาธิการ กกต. ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวหลายครั้งในช่วง 2 วันนี้ โดยยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ พร้อมชี้แจงการแก้ไขปัญหาภายหลังปิดหีบเลือกตั้งเอาไว้ ดังนี้
“การจ่าหน้าซอง ถ้าถูกต้องทั้ง 3 จุด ก็จะถูกแยกออกไปเลย แต่ถ้ามีปัญหากรอกครบ แต่เขียนเขต หรือรหัสเลือกตั้งผิด จะยึดรหัสเขตเลือกตั้ง 3 ตัวท้าย ซึ่งอยู่ด้านล่างของซองเป็นหลัก แต่ถ้ากรอกไม่ครบ หรือไม่มีรายละเอียดใด ๆ หรือไม่มีการกรอกอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมี กรณีนี้จะถูกส่งมาให้คณะกรรมการ ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และไปรษณีย์วินิจฉัยว่าซองนี้จะไปลงเขตใด ซึ่งจะต้องไปสอบทานกับต้นขั้วก่อน ยอมรับว่าอาจจะยุ่งยากพอสมควร” นายแสวงกล่าว
เลขาธิการ กกต. ย้ำว่า ได้ออกแบบให้กรอกเอกสารหน้าซองถึง 3 ชั้น เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาก็จะสามารถตรวจสอบได้ และสามารถส่งบัตรเลือกตั้งนั้นไปยังหน่วยเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ดังนั้นแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กปน. แต่ยืนยันว่า “บัตรทุกใบไม่เป็นบัตรเสีย คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
เอกสารต้นขั้ว หรือที่เรียกว่า “บัตรติ้ว” คือหลักฐานที่เลขาธิการ กกต. บอกว่าจะทำให้รู้ว่าบัตรเลือกตั้งจะถูกลงไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งใด
สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ 7 กกต. และผู้บริหารสำนักงาน กกต. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และดันแฮชแท็ก “กกต. มีไว้ทำไม” และ “กกต. ต้องติดคุก” ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ไทยเมื่อ 7 พ.ค.
นอกจากนี้ ยังมีกระแสเรียกร้องให้ กกต. แสดงความรับผิดชอบ โดยมีบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “We Love Thailand” ทำแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 1.5 ล้านรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน กกต. ออกจากตำแหน่ง ผ่านเว็บไซต์ Change ซึ่งเป็นแคมเปญเก่าเมื่อ 4 ปีก่อน จากผลงานจัดการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 แต่แคมเปญดังกล่าวยังไม่บรรลเป้าหมาย และหยุดชะงักไปเมื่อครบปี โดยมีผู้ร่วมลงชื่อ 849,079 รายชื่อ ณ 11 เม.ย. 2563
กระทั่งวานนี้ (7 พ.ค.) ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ได้พากันแชร์ลิงก์รณรงค์เดิมอีกครั้ง และมีผู้ทยอยลงชื่อสนับสนุนเพิ่มเติม จนล่าสุด ณ เที่ยงของวันที่ 8 พ.ค. มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนให้ถอดถอน กกต. แล้ว รายชื่อ 1,063,870 รายชื่อ และปัจจุบัน บีบีซีไทยตรวจสอบ พบว่ามีคนลงชื่อแล้ว 1,285,532 รายชื่อ
สำหรับ กกต. 7 คนนี้ เริ่มเข้ารับหน้าที่เมื่อปี 2561 มีนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน กกต. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
การเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. 2566 ถือเป็นการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของ กกต. ทั้ง 7 คน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก