ที่มาของภาพ, Thai News Pix
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในงานแถลงร่วมกันของ 2 พรรคที่สนับสนุนให้ “พรรคที่ 3” คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา เมื่อ 3 ก.ค.
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์กับคนใกล้ชิด โดยเชื่อว่า 4 ส.ค. นี้ พรรคเพื่อไทย (พท.) จะได้เสียงสนับสนุนในรัฐสภามากพอให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมยืนยันว่าจะเดินทางกลับไทยตามกำหนดการเดิม
"ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ผมก็จะกลับไทยวันที่ 10 สิงหาแน่นอน" นายทักษิณ กล่าวยืนยันกับคนใกล้ชิด
เช้าวันนี้ (2 ส.ค.) แกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) พบปะกันในรอบ 12 วัน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในยกที่ 3 วันที่ 4 ส.ค. นี้ โดยใช้เวลาราว 2 ชม.
จากนั้นแกนนำพรรค พท. ได้โทรศัพท์ถึงเลขาธิการ 6 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดเดิมเพื่อแจ้งผลหารือระหว่าง 2 พรรคการเมือง และขอให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละพรรคในการตัดสินใจ หากเห็นด้วยกับแนวทางที่พรรค พท. นำเสนอ ก็สามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้
เวลา 14.20 น. แกนนำพรรค พท. ประกาศ “ขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน” กับพรรค ก.ก. และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
End of เรื่องแนะนำ
“พรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่าเราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วมฯ พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. อ่านแถลงการณ์ของพรรค พท.
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่มีพรรค ก.ก. จะมีการแถลงเปิดตัวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 3 ส.ค.
หัวหน้าพรรค พท. แสดงความมั่นใจว่า การเลือกนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค. “จะจบในวันเดียว และจบแบบได้นายกฯ” ส่วนพรรค ก.ก. จะร่วมโหวตสนับสนุนนายเศรษฐาหรือไม่นั้น ให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. พรรคก้าวไกล
ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตในระหว่างการแถลงข่าวของแกนนำพรรค พท. คือ การแบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน โดย นพ.ชลน่านระบุว่า เอาขั้นตอนเลือกนายกฯ ก่อน ขั้นตอนนี้เรามั่นใจว่าเราจะประสบความสำเร็จ ได้เสียงเกิน 375 เป็นนายกฯ ในนามเพื่อไทย จากนั้นก็มาจัดตั้งรัฐบาล “ด้วยสถานการณ์อย่างนี้ มีข้อจำกัดมาก รัฐบาลที่เข้มแข็งน่าจะเกิน 300 ขึ้นไป แต่ด้วยข้อจำกัดขณะนี้เราจะหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ประชาชนบางส่วนเดินขบวนไปยังหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อ 2 ส.ค. เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ
แถลงการณ์ของพรรค พท. ที่ใช้ชื่อว่า “เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ” ระบุถึง 2 ภารกิจสำคัญที่จะทำ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
“นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน” แถลงการณ์พรรค พท. ระบุตอนหนึ่ง
แถลงการณ์ของพรรค พท. ยังระบุตอนหนึ่งว่า แคนดิเดตนายกฯ พรรค ก.ก. ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรค พท. ได้สนับสนุนพรรค ก.ก. อย่างเต็มความสามารถ ทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่น ๆ และ สว. ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรค ก.ก.
“พรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้” พรรค พท. ไล่เรียงที่มาก่อนรับ “ไม้ต่อ” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ด้านพรรค ก.ก. โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. เปิดแถลงในเวลา 16.00 น. เพื่อ “ขอโทษประชาชน” ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่เคารพเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้สำเร็จ และยังไม่มีมติพรรคชัดเจนว่าจะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. หรือไม่
นายชัยธวัช ซึ่งเป็นอดีต “ผู้จัดการรัฐบาล” เปิดเผยสาระสำคัญในการพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. เอาไว้ ดังนี้
เลขาธิการพรรค ก.ก. ยืนยันว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน พรรค ก.ก. จะทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่
เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกเจ็บ-จุกหรือไม่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นายชัยธวัชอมยิ้มเล็กน้อยก่อนตอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของการเมืองไทย
“ปัญหาของการเมืองไทยคืออำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชน นี่คือปัญหาใหญ่ ก็คงเป็นภารกิจของพวกเราที่จะผลักดันเปลี่ยนแปลงอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเมืองกลับมาสู่ระบบปกติที่เสียงและอำนาจของประชาชนสำคัญที่สุด” เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าว
เขาบอกด้วยว่า ได้แจ้งผลการประชุมร่วมกับพรรค พท. ให้นายพิธาทราบแล้ว ซึ่งขณะนี้นายพิธาพักรักษาตัวอยู่ใน รพ. ด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมี “กำลังใจดี แต่เสียงไม่มีเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะไข้หวัดใหญ่” และเมื่อพรรค พท. ตัดสินใจแบบนี้แล้ว เราก็คงไปเรียกร้องไม่ได้”
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
พรรคก้าวไกลประกาศส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน เมื่อ 21 ก.ค.
ย้อนไปเมื่อ 21 ก.ค. พรรค ก.ก. ประกาศส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน และพร้อมเป็นผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค พท. ต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
อย่างไรก็ตามการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ต้องเลื่อนจากกำหนดเดิม 1 สัปดาห์ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติรัฐสภา 19 ก.ค. ที่ “เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำไม่ได้” ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลนัดประชุมและลงมติว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวในวันที่ 3 ส.ค. นี้
ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา หัวหน้าพรรค ก.ก. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคสีส้ม ให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกฯ ในรอบที่ 2 ทำไม่ได้ เนื่องจากเป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ในเมื่อชื่อของนายพิธาถูก สส. และ สว. โหวตคว่ำไปแล้วในคราวประชุมรัฐสภา 13 ก.ค. จึงไม่สามารถเสนอชื่อเดิมให้สมาชิกโหวตซ้ำได้อีก
ทันทีที่ได้รับไม้ต่อจากก้าวไกล พรรค พท. ได้เรียกประชุม 8 พรรคพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันเดียวกัน (21 ก.ค.) ก่อนแถลง 3 แนวทางเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมให้ครบ 375 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 498 คน สรุปได้ ดังนี้
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ต่อมาในช่วง 22-23 ก.ค. แกนนำพรรค พท. ได้เปิดที่ทำการพรรคเพื่อไทยต้อนรับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 5 พรรคการเมืองที่อยู่ “ขั้วรัฐบาลเดิม” ให้เข้าพบปะหารือ โดยแจ้งสื่อมวลชนว่าเป็นการ “พูดคุยหาทางออกให้ประเทศ ไม่ใช่การเชิญเข้าร่วมรัฐบาล”
นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรค พท. ชี้แจงว่า เหตุที่เชิญแกนนำพรรคต่าง ๆ มาที่ทำการพรรค พท. เพราะเกรงว่าจะตีความผิดว่า “ไปส่งเทียบเชิญ” เหมือนไป “สู่ขอ” จึงขอให้มาที่พรรค พท. แทน พร้อมปฏิเสธข้อวิเคราะห์ที่ว่า พรรค พท. ยืมปากให้พรรคอื่น ๆ มาบีบให้พรรค ก.ก. ไม่อยู่ในสมการของการจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า พรรค พท. ทำงานเปิดเผย ไม่มีลับลมคมในกับเพื่อน เมื่อส่งมอบภารกิจให้เรา ก็ทำตาม และจะนำความเห็นต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ ต่อไป
ขณะที่แกนนำทุกพรรคแถลงย้ำจุดยืนว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่ร่วมมือด้วยตราบที่ยังมีพรรค ก.ก. ร่วมรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ถ้าเราเข้ามามีส่วนร่วม คงไม่สามารถทำงานได้กับพรรค ก.ก. ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องวิธีการทำงานและความคิด เชื่อว่าพรรค พท. จะพิจารณาข้อจำกัดของเรา ถ้ามีอะไรที่ผ่านจุดที่เป็นอุปสรรคไปได้ พรรค ภท. พร้อมให้ความร่วมมือกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. โชว์เครื่องดื่มชอคโกแลตมินท์ เมนูโปรดของ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่าง “กลับบ้านเก่า” เดินทางมาหารือกับแกนนำเพื่อไทยเมื่อ 22 ก.ค.
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า พร้อมร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรค พท. เป็นแกนนำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. ให้ได้รับความเห็นชอบ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 “ถ้ายังมีการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ตรงนโยบายพรรค ก็ไม่สามารถร่วมรัฐบาลได้”
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ไม่ได้มาคุยเรื่องการร่วมรัฐบาล และไม่ได้คุยเรื่องเงื่อนไขร่วมรัฐบาลมีอะไรบ้าง แต่เหตุผลของพรรค รทสช. คือมองว่าอุดมการณ์ของพรรค ก.ก. กับของ รทสช. ไปด้วยกันไม่ได้ ส่วนจะนำไปสู่เหตุผลโหวตพรรค พท. เป็นนายกฯ หรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์ตอบว่า “อยู่ที่ใครร่วมรัฐบาลบ้าง ถ้ามีบางพรรคที่เรารับไม่ได้อยู่ เราก็ไม่ให้ และไม่ว่าใครเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกล จะพิจารณายกมือให้ได้”
นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรค พท. มีแนวทางคล้ายกับพรรค ชทพ. เกี่ยวกับสถาบัน มาตรา 112 “ถ้ามีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย พวกเรายินดีที่จะสนับสนุน แต่การทำงานของพรรคเพื่อไทยต้องไม่มีพรรคใดที่มีแนวคิดที่แตกแยกออกจากที่เราคิดอยู่ ถ้ามี คงจะแยกย้ายกันทำงาน”
นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ได้ยืนยันกับพรรค พท. ไปว่าเป็นหลักการสำคัญของพรรค พปชร. ที่ปฏิเสธการทำงานกับพรรค ก.ก. ซึ่งมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เราร่วมทำงานด้วยไม่ได้ พรรค พท. จะได้ไปคิดตรึกตรอง ไปวางแผนของเขาเอง
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
แกนนำพรรค รทสช. แถลงข่าวร่วมกับแกนนำพรรค พท. ภายหลังการหารือ 22 ก.ค.
ภาพนักการเมืองจากพรรค “2 ลุง” เข้าพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. ทำให้พรรค ก.ก. ซึ่งหาเสียงด้วยการประกาศจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา” ต้องเรียกประชุม สส. ผ่านระบบออนไลน์เป็นการด่วนเมื่อ 24 ก.ค. ก่อนเผยแพร่ข้อสรุปว่า พรรค ก.ก. จะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรค พปชร. และพรรค รทสช. ด้วย 6 เหตุผล
“ขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน เราไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ” พรรค ก.ก. เผยแพร่จุดยืนเมื่อ 24 ก.ค.
การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยถูกนำไปเชื่อมโยงกับการตัดสินใจเดินทางกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรอบ 15 ปีนับจากออกนอกประเทศไปเมื่อปี 2551 โดยปรากฏกระแสข่าว “ดีลลับ” เป็นระยะ ๆ หลังมีข่าวออกมาว่านักการเมืองต่างพรรคเดินทางไปพบเขาที่เกาะฮ่องกง ขณะเดียวกันก็มีผู้ออกมาวิเคราะห์ว่านายทักษิณอาจเลื่อนกำหนดกลับบ้านเกิดจากวันที่ 10 ส.ค.
"ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ผมก็จะกลับไทยวันที่ 10 สิงหาแน่นอน" นายทักษิณ กล่าวยืนยันกับคนใกล้ชิด
แหล่งข่าวรายนี้เปิดเผยกับบีบีซีไทยด้วยว่า อดีตนายกฯ จะแวะพักที่ประเทศกัมพูชา 1 คืน ก่อนเข้าไทยช่วงเช้า 10 ส.ค.
แหล่งข่าวยังกล่าวถึงข้อวิเคราะห์ของนายทักษิณที่เชื่อว่า 4 ส.ค. นี้ พรรค พท. จะได้เสียงสนับสนุนในรัฐสภามากพอให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรค ก.ก. จะยกมือให้ แต่จะไม่ร่วมรัฐบาล และดึงพรรค ภท. มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยไม่มีพรรค พปชร. และ รทสช. เข้าร่วม
“สว. จะมีเงื่อนอะไรมาอ้างอีก ในเมื่อไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลในรัฐบาลแล้ว” นายทักษิณกล่าวผ่านคนใกล้ชิด
“พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่คล้ายกัน เราสามารถทำการเมืองแบบใหม่ ทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่คอยแต่จะค้าน นโยบายที่คล้ายกัน ก็ร่วมกันผลักดันได้ เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
หัวหน้า 8 พรรคการเมืองร่วมเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล โดยถือเป็นครั้งแรกที่สิ่งนี้ในการเมืองไทย ก่อนที่ MOU จะถูกฉีกลงในอีก 2 เดือนต่อมา
หัวหน้าพรรค ก.ก. และพันธมิตรการเมืองร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding – MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน 312 เสียง เมื่อ 22 พ.ค. พร้อมประกาศสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ
สำหรับ 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (151 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง)
ทว่าเมื่ออำนาจในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลย้ายมาอยู่ในมือของพรรค พท. บรรดานักวิเคราะห์ได้ออกมาคาดการณ์สารพัดสูตรจัดรัฐบาล ทั้งนี้ ถ้ายึดตามแนววิเคราะห์ของนายทักษิณที่บอกกับคนใกล้ชิดว่าไม่มีพรรค “2 ลุง” สูตรจัดรัฐบาลที่เป็นไปได้อาจมีอย่างน้อย 268 เสียง ในจำนวนนี้เป็น 6 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม รวม 161 เสียง ยกเว้น พรรค ก.ก. และพรรคเป็นธรรมที่แสดงจุดยืนไว้ก่อนหน้านี้ว่า "พร้อมเป็นฝ่ายค้านกับก้าวไกล" รวมกับ 4 พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า รวม 108 เสียง
สำหรับ 10 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) ร่วมด้วยพรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง), พรรคประชาธิปัตย์ (25 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) และพรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง)
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก