
วันนี้ (9 ส.ค.2566) เวลาประมาณ 09.00 น. การจราจรบริเวณ ถ.รัชดาภิเษกขาเข้าติดขัดยาวสะสมถึงสะพานพระราม 7 เหตุจากรถพ่วง บรรทุกรูปปั้นขนาดใหญ่ ติดคานสะพานลอยคนข้าม ทางจราจร สน.พหลโยธิน เข้าช่วยเหลือโดยให้ปล่อยลมยางและเข้าจอดช่องทางซ้ายสุด
พ.ต.ต.ศรีธกริช พิทักษ์ชนะกิจ สว.จร.สน.พหลโยธิน ระบุว่าเหตุดังกล่าวเริ่มจาก รถบรรทุกรูปปั้น “ครูกายแก้ว” มาจากโรงหล่อ จ.ราชบุรี เพื่อไปตั้งยังโรงแรมแห่งหนึ่งที่ แยกรัชดา-ลาดพร้าว คนขับรถขับเข้า กทม. ผ่านทาง ถ.พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายแยกรัชดาภิเษก เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า
เมื่อถึงจุดเกิดเหตุ บริเวณรัชดาภิเษก 36 พ.ต.ต.ศรีธกริช ตั้งข้อสังเกตว่า เดิมบริเวณนี้มีน้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีการเสริมพื้นให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำขัง ทำให้รถคันเกิดเหตุไม่สามารถลอดผ่านสะพานไปได้ เพราะความสูงของรูปปั้นไม่พ้นท้องสะพานซึ่งเหลื่อมไปเพียง 2 ซม.
ต่อมา จราจร สน.พหลโยธิน ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยให้รถที่บรรทุกรูปปั้นพระกายแก้วเข้าจอดช่องทางซ้าย เพื่อให้รถคันอื่นเคลื่อนตัวได้มากขึ้น ส่วนรถคันเกิดเหตุ ให้ปล่อยลมยางออกเพื่อให้ลอดผ่านใต้สะพานได้ และทำการเปรียบเทียบปรับข้อหา เดินรถในเวลาห้าม โดยที่รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งบนทางราบ ในเวลา 06.00 – 09.00 น. และ เวลา 16.00-20.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ
สำหรับเส้นทางเดินทางจาก จ.ราชบุรี เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษก คาดว่า เริ่มต้นจากราชบุรี ถ.บรมราชชนนี เข้า ถ.กาญจนาภิเษก ถ.รัตนธิเบศร์ เข้า ถ.ราชพฤกษ์ ข้ามสะพานพระราม 4 เข้า ถ.แจ้งวัฒนะ วิ่งตรงมาถึงวงเวียนบางเขน เลี้ยวขวา เข้าถ.พหลโยธินขาเข้า เลี้ยวซ้ายแยกรัชโยธิน เข้า ถ.รัชดาภิเษก
ส่วนรูปปั้นขนาดใหญ่บรรทุกหลังรถ ก็เป็นที่โจษจันในโลกโซเชียล ชาวเน็ตหลายคนสุดงง บ้างก็ว่าเป็น เวตาล ตัวละครในวรรณคดี บ้างก็ว่าเป็นแดรกคูลา ไทยพีบีเอสออนไลน์ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าแท้ที่จริงคือ “ครูกายแก้ว”
รูปปั้นครูกายแก้ว
รูปปั้นครูกายแก้ว
“ครูกายแก้ว” หลายคนอาจรู้จักกันในนาม “พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์” มีรูปร่างลักษณะของผู้บำเพ็ญกึ่งมนุษย์กึ่งนก เล็บยาว ตาแดง มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวสีทองสื่อถึงนกการเวก รูปปั้นองค์ปฐมครูกายแก้วถูกสร้างเป็นไปตามจินตนาการของ อ.สุชาติ รัตนสุข ที่ได้รับองค์ครูขนาดเล็กหน้าตักเพียง 2 นิ้ว จาก อ.ถวิล มิลินทจินดา นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ที่ได้รับต่อมาอีกทีจากพระธุดงค์ จ.ลำปาง ที่ไปทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา
ผู้บูชาเชื่อว่าครูกายแก้วจะช่วยเรื่องความสำเร็จ การค้าขาย เพราะครูกายแก้วมีลักษณะคล้ายนกการเวก สัตว์จากป่าหิมพานต์ที่มีเสียงไพเราะ จะช่วยดึงดูดใจคนที่ได้ยินเสียง ช่วยโน้มน้าวใจ จึงเป็นที่นิยมในหมู่พ่อค้าแม่ขาย และไม่ใช่แค่ชาวไทยเท่านั้น ครูกายแก้วยังเป็นที่นิยมกับสายมูชาวต่างชาติ อาทิ ชาวจีน ไต้หวัน ฮ่องกง
ผู้ที่อยากกราบไหว้ขอพรจาก ครูกายแก้ว สามารถไปได้ที่เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง, เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่, ศาลพระพิฆเนศ อาเขตเชียงใหม่ และในเร็ววันนี้ ที่โรงแรมย่านรัชดา-ลาดพร้าว
ที่มา : ครูกายแก้ว.com
อ่านข่าวอื่นๆ :
วันแม่ 2566 : “เรียกแม่สิลูก” รวมคำเรียกชื่อ “แม่” ในภาษาต่างๆ
3 อาการ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ขาซ้ายงอตึง-ตาขวาเสี่ยงต้อ-โปรตีนสูงในฉี่